การต่อสู้คดีอาญานั้น สิ่งสำคัญอย่างแรกๆคือทุกคนต้องทราบและเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองพอสมควร เช่น ต้องทราบว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (๑) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ )
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่..... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๖.๓๐ น. ตำรวจกองบังคับการตำรวจ.....ได้นำหมายค้นของศาลอาญาที่...../๒๕๔๖ ไปตรวจค้นที่บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด ห้องเลขที่..... ชั้น ๓ อาคารไทม์ สแควร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พบเทปวัสดุโทรทัศน์แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ต่างประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากนายทะเบียนและไม่ผ่านพิธีศุลกากร
ต่อมาวันเดียวกัน เวลา ๑๘.๓๐ น. ผู้ต้องหาซึ่งเคยเป็นผู้มีชื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัทฯแล้วในวันและเวลาที่บริษัทฯถูกตรวจค้น ได้เดินทางไปที่บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด สถานที่เกิดเหตุเนื่องจากต้องการแสดงความบริสุทธิ์และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่คณะเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจค้นได้จับกุมผู้ต้องหาดำเนินคดีเนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีชื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทป วัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ที่มิได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากเจ้าพนักงานให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และนำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซึ่งสินค้าต้องห้ามต้องจำกัดโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี โดยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้อหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
(ข้อสังเกต คณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลก่อนที่ผู้ต้องหาจะมาถึงที่เกิดเหตุ คณะเจ้าพนักงานตำรวจมีแต่หมายค้นของศาลแต่ไม่มีหมายจับของศาลมาด้วยและผู้ต้องหาไม่มีการกระทำความผิดซึ่งหน้า หมายความว่า ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายศาลโดยไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า)
บันทึกการตรวจยึด/จับกุม (....ก.ค.๔๖)
บันทึกที่ห้องเลขที่.....ชั้น ๓ อาคารไทม์ สแควร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
วันที่.....กรกฎาคม ๒๕๔๖
บันทึกฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่า:-
วันนี้ (.....ก.ค.๔๖) เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกอบด้วย พ.ต.ท. บ รอง ผกก.๓ บก.ทท , พ.ต.ท. ว รอง ผกก.๓ บก.ทท , พ.ต.ท. ก สว.ผ.๑ กก.๒ บก.ทท , ร.ต.อ. ส พงส.(สบ.๑) ผ.๒.กก.๑ ปม.และ ร.ต.ท.ผ รอง สว.ผ.๔ ผกก.๓ บก.ทท ได้นำหมายค้น ศาลอาญาที่...../๒๕๔๖ ลงวันที่.....กรกฎาคม ๒๕๔๖ มายังห้องเลขที่....ชั้น ๓ อาคารไทม์ สแควร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงห้องเลขที่ดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นร้านค้าให้เช่าและจำหน่ายวีดีโอ จึงเข้าไปแสดงตัวและขอทำการตรวจค้น โดยได้พบกับ น.ส. ว อายุ ๒๒ ปี แจ้งว่าเป็นผู้ดูแลร้านดังกล่าว คณะเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายค้นให้ น.ส. ว ดูและให้เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้นปรากฏพบ (๑) วีดีโอหนังต่างประเทศภาษารัสเซีย จำนวน ๖,๔๙๗ ม้วน (๒) แผ่นหนังวีซีดีต่างประเทศจำนวน ๕๙๙ แผ่น (๓) ใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ เลขที่ ..../๒๕๔๕ (๔) สมุดบัญชีลูกค้าภาษารัสเซีย จำนวน ๑ เล่ม (๕) เครื่องเล่นวีดีโอ ๕ เครื่อง
จากการตรวจสอบพบว่าร้านดังกล่าวเปิดบริการให้เช่าวีดีดีและจำหน่ายวีซีดีให้กับลูกค้าชาวรัสเซีย คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบม้วนวีดีโอและแผ่นวีซีดี ปรากฏว่า เป็นม้วนวีดีโอและแผ่นวีซีดีที่ไม่ด่านการตรวจพิจารณาจากนายทะเบียนนอกจากนี้ยังเป็นม้วนวีดีโดที่ได้คัดลอกจากต้นฉบับจริง
จากการตรวจสอบใบอนุญาต เลขที่...../๒๕๔๕ ของร้านดังกล่าวพบว่าได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ณ ที่ทำการเลขที่.....อาคารไทม์ สแควร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ตรงกับสถานที่ประกอบกิจการจริง
โดยขณะที่ดำเนินการตรวจค้น ได้มี นาย ป อายุ....ปี อยู่บ้านเลขที่.....ซอย....แขวง.....เขต.....กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ปรากกอยู่ในใบอนุญาตเลขที่...../๒๕๔๕ ได้มาแสดงตัวแจ้งว่าเป็นผู้มีชื่อในใบอนุญาต
คณะเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของ บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด โดยนาย ป ในฐานะนิติบุคคลและส่วนตัวเป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ ข้อหา ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต , นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้มีผู้รับรองสำเนาเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตน
นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ ข้อหา นำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ชวยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสิค้าต้องห้ามต้องจำกัด โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
คณะเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวให้บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด โดยนาย ป ทราบและเข้าในดีแล้ว โดยนาย ป ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาจึงทำการควบคุมตัวและยึดของกลาง (ตามบัญชีแนบท้าย)นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกำหมายต่อไป เสร็จสิ้นการตรวจค้นเวลา ๑๘.๐๐ น.
อนึ่งในการตรวจยึด/จับกุมครั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ มิได้ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใดและมิได้ทำให้ทรัพย์สินของผู้ใดเสียหายสูญหายแต่อย่างใด
จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
ลงชื่อ ผู้ต้อหา (ลงชื่อ) ว. พยานผู้นำตรวจค้น
*หมายเหตุ ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ
ลงชื่อ ตรวจค้น/จับกุม (ลงชื่อ) ตรวจค้น/จับกุม
(พ.ต.ท. บ) (พ.ต.ท. ว)
ลงชื่อ ตรวจค้น/จับกุม (ลงชื่อ) ตรวจค้น/จับกุม
(พ.ต.ท. ก) (ร.ต.อ. ส)
ลงชื่อ ตรวจค้น/จับกุม/บันทึก
(ร.ต.ท.ผ)
ในการทำบันทึกตรวจยึด/จับกุมคร้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำบันทึกมาให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อ ผู้ต้องหาได้แจ้งว่าให้บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำบันทึกมาให้ลงลายมือชื่ออีกครั้ง ผู้ต้องหาได้อ่านดูเห็นว่าถูกต้องแล้ว ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ให้หมายเหตุไปว่า ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ
ในการดำเนินคดีอาญานั้น พยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง บันทึกการจับกุมนี้เป็นพยานหลักฐานที่ดีมาก แต่ที่น่าคิดนึกตรึกตรองอย่างยิ่งคือ บันทึกการตรวจยึด/จับกุมฉบับนี้ เป็นพยานหลักฐานของใคร ใครจะได้ใช้? เพราะผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าและถูกจับกุมโดยไม่มีคำสั่งหรือหมายจับของศาล ใครกระทำผิดต่อกฎหมาย คณะเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุม หรือ ผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหา
รูปแบบการตรวจยึด/จับกุม ของคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกข้อหาจะมีลักษณะรูปแบบและเนื้อหาในการเขียนบันทึกเช่นนี้เกือบทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเท็จจริงนั้นๆ แต่เนื้อความจะไม่แตกต่างจากตัวอย่างที่ให้ไว้นี้เท่าใดนัก