การฟ้องคดี
บัตรกดเงิน อาจจะมีอายุความ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี แล้วแต่ข้อเท็จจริงของการไปทำสัญญาผูกพันไว้ ถ้าเป็นสัญญากู้ยืมเงินก็อายุความ 10 ปี เมื่อมีการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายปี 2548 คดีคงขาดอายุความ ปี 2558 แม้คดีจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ฟ้องได้ ถ้าลูกหนี้ไม่ยกเรื่องคดีขาดอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลก็ให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามฟ้องได้ ดังนั้นถ้าชะล่าใจ ไม่ไปยื่นคำให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ศาลก็สามารถพิพากษาให้ใช้หนี้ตามที่ถูกฟ้องได้ แม้คดีจะขาดอายุความแล้ว...แนวคำพิพากษาเทียบเคียง
ฎีกาที่ 7191/2558
ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การต่อสู้คดี ทั้งคำให้การในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากผิดนัดชำระค่าเช่าหลายปีเช่นนี้ เป็นกรณีจำเลยทั้งสองให้การว่ารับสภาพความผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ศาลจึงไม่อาจหยิบยกอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง |