ReadyPlanet.com


ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๒ กรณีเช่าซื้อรถยนต์


 ผมมีความทุกข์ร้อน รบกวนเรียนถาม กับทั้งขอความอนุเคราะห์คำแนะนำครับ

คร่าว ๆ ก็คือ ผมได้รับหมายศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (คดีหมายเลขดำที่ ผบE367/2565) เมื่อวันที่ ๒๙ ม.ค.๖๕ ฐานะจำเลย จากเหตุค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ปิ๊กอัพ (มือสอง) โดยพี่ชายของผมเอง เมื่อวันที่ ๙ ก.พ.๖๐ เป็นเงินค่าเช่าซื้อ ๕๐๙,๘๕๔.๓๒ บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ ๗,๕๗๗ บาท (รวมแว็ทแล้ว) เริ่มตั้งแต่ ๑๐ มี.ค.๖๐ ในสัญญาระบุว่าหากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ๓ งวด ติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที 

ปัญหาเกิดเนื่องจากพี่ชายได้ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดที่ ๗ (๑๐ ก.ย.๖๐) รวมเป็นเงิน ๔๙,๕๖๙.๑๗ บาท จากนั้นไม่มีการชำระอีก 

๑๙ ก.พ.๖๑ ผู้เช่าซื้อ (พี่ชาย) ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ

ต่อมาผู้ให้เช่าซื้อ (โจทก์) มอบหมายให้บริษัทตัวแทน นำรถยนต์คันนี้ออกประมูลขายทอดตลาด ได้ราคาสูงสุด ๓๐๒,๐๐๐ บาท โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยชำระราคาเช่าซื้อที่เหลือ ๑๕๘,๒๐๐ บาท + ค่าขาดประโยชน์ ๔๖,๒๐๐ บาท + ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนโจทก์ด้วย

เรียนขอความอนุเคราะห์คำแนะนำมาด้วยความเคารพยิ่งครับ  



ผู้ตั้งกระทู้ ประยูร บุญสวาสดิ์ :: วันที่ลงประกาศ 2022-02-18 15:16:38 IP : 113.53.19.221


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4339567)

การเช่าซื้อ

  เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและคืนรถแก่ไฟแนนซ์แล้ว  จำเลยและผู้ค้ำประกันน่าจะไม่ต้องรับผิดในหนี้ในสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป  มีแนวคำพิพากษาในลักษณะนี้ มากมายหลายฎีกา พอสมควร จะขอยกมาบางส่วน...แต่เรื่องนี้ เป็นความรับผิดในทางแพ่ง  เมื่อถูกฟ้องจะอ้างเพียงคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิด  เรื่องคงไม่จบลงง่ายๆเช่นนั้น  เมื่อถูกฟ้อง  จำเป็น ต้องยื่นคำให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่า เราไม่ต้องรับผิดอย่างไร  อาจจะต้องให้ทนายความช่วยเหลือ ในการยื่นคำให้การ   หรือไปที่ศาลขอให้มีการไกล่เกลี่ย  น่าจะมีทางออกที่เหมาะที่ควรได้....ถ้านิ่งเฉยไม่ยอมยื่นคำให้การต่อสู้ไว้  อาจจะต้องรับผิดเต็มตามที่ถูกฟ้องได้...ด้วยความปรารถนาดีครับ

แนวคำพิพากษาเทียบเคียง 

ฎีกาที่ 4607/2562

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

ฎีกาที่ 7024/2548

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2022-02-25 11:01:47 IP : 223.205.246.167



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๖๖