ในการต่อสู้คดีอาญา ทุกคนต้องทราบสิทธิขั้นพื้นฐานของตนอีกอย่างหนึ่งคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด หรือสำนักงานศาลยุติธรรมก็ตามต้องการให้ท่านไปพบเพื่อการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดีหรือการอย่างอื่น ต้องมีหมายเรียกมาถึงท่าน ไม่ใช่ว่าเพียงแต่โทรศัพท์มา หรือฝากข้อความมากับคนอื่นๆเท่านั้น เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๒ บัญญัติว่า การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนหรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือมาศาล เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดี หรือการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้วแต่กรณี
หมายเรียกผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมาถึงผู้รับหมายในรูปจดหมายปิดผนึกเป็นกระดาษแผ่นเดียวส่งทางไปรษณีย์ธรรมดา หรือไปรษณีย์ตอบรับ จ่าหน้าซองจดหมายถึงผู้รับหมายโดยด้านหน้ามีตราครุฑ มีที่อยู่ของผู้ส่งและชื่อที่อยู่ของผู้รับหมาย ซึ่งจะมีเนื้อความและลักษณะของหมายเรียก ดังนี้
ครุฑ หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกนี้
อาจเป็นเหตุให้ศาลออกหมายจับได้
หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่.....
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สถานที่ออกหมาย สถานีตำรวจนครบาล พระโขนง
ออกหมายวันที่.....เดือน.....พ.ศ. ๒๕๕๓
ความอาญา
สำนักงานเขตวัฒนา ผู้กล่าวหา
คดีระหว่าง
นาย... ผู้ต้องหา
อาศัยอำนาจตามประมวลกำหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๕๒
หมายมายัง นาย.....
บ้านเลขที่......ซอย....ตำบล.....
ผู้ใหญ่บ้าน.....กำนัน.....
อำเภอ..เขตพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ด้วยเหตุที่ท่านต้องหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร
ฉะนั้นให้ นาย...
ไป ณ สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง พบ ร.ต.อ. ภ พงส. (สบ ๑) สน.พระโขนง
ในวันที่.....เดือน.......พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา
(ลงชื่อ) ร.ต.อ. ลายมือชื่อ ผู้ออกหมาย
(ตำแหน่ง) พงส. (สบ ๑) สน.พระโขนง
พนักงานสอบสวน โทรศัพท์......
...............................................................................................................................
ใบรับหมายตำรวจ
วันที่.....เดือน.....พ.ศ.๒๕....เวลา......นาฬิกา ข้าพเจ้า.....ได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ.....ซึ่งกำหนดให้ข้าพเจ้าไปยัง......
ในวันที่.....เดือน....พ.ศ.๒๕..เวลา.....นาฬิกาไว้แล้ว
(ลงชื่อ)...ผู้รับหมาย
(ลงชื่อ)....ผู้ส่งหมาย
เมื่อท่านได้รับหมายเช่นนี้ หากท่านไม่ว่าง หรือติดธุระจำเป็นต่างๆจริงๆ ท่านก็สามารถส่งหนังสือแจ้งความจำเป็นของท่านขอเลื่อนกำหนดวันเวลาออกไปได้ เช่น แจ้งว่าท่านไม่สามารถไปในวันและเวลาที่กำหนดดังกล่าวได้เพราะเหตุใด และสามารถจะไปพบได้เมื่อไร เป็นต้น ซึ่งก่อนไปพบเจ้าหน้าที่ตามวันเวลานัดหมายดังกล่าว ควรปรึกษาทนายความหรือผู้รู้กฎหมายไปก่อนก็จะเป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีของท่านตั้งแต่ต้น