ข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยได้ไปร่วมงานฉลองปีใหม่กับเพื่อนฝูงเกือบทั้งคืนและดื่มสุราด้วย ขณะที่จำเลยขับรถยนต์กลับที่พักเป็นเวลาเช้ามืดจำเลยขับรถยนต์มาติดสัญญาณไฟแดงที่ใกล้บริเวณป้อมตำรวจ หลังจากนั้นจำเลยได้เผลอหลับไปสักครู่หนึ่ง ต่อมาเมื่อมีสัญญาณไฟเขียวจำเลยยังหลับอยู่เป็นเหตุให้รถที่ตามหลังรถยนต์ของจำเลยมาติดกันเป็นแถว จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ป้อมยามจึงมาเพื่อตรวจดูพบเห็นจำเลยหลับอยู่ที่ที่นั่งคนขับรถยนต์ ตำรวจจราจรจึงเคาะกระจกรถยนต์ปลุกจำเลยให้ตื่นขึ้นจากหลับและหลังจากนั้นนำตัวเลยส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ (เมาแล้วขับ) ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีของศาล จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลได้พิพากษาจำคุกจำเลย ๑ เดือนแต่ให้เปลี่ยนเป็นโทษกักขังแทน ๑ เดือน จำเลยได้มาปรึกษากับเราเพราะประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยพิพากษารอการลงโทษ การอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาใช้แบบพิมพ์ของศาลหมายเลข (๓๒) อุทธรณ์ โดยมีเนื้อความดังนี้
ข้อ ๑.โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๒) ๑๖๐ ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๑ และขอศาลพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องรับลดกึ่ง จำคุก ๑ เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนเป็นเวลา ๑ เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓ และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเป็นเวลา ๖ เดือน
ข้อ ๒.ด้วยความเคารพต่อศาล จำเลยยังคงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไป จำเลยจึงขออุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่เคารพด้วยเหตุผลดังจะกล่าวต่อไปนี้
๒.๑ จำเลยมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งแน่นอน กล่าวคือจำเลยทำงานที่วัด ธ.มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ แต่เพิ่งจะได้รับการบรรจุครบ ๑ ปี เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๒ นี้ โดยจำเลยทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำฌาปนสถานได้รับอัตราเงินเดือนเดือนละ ๕,๕๐๐ บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองเงินเดือนท้ายอุทธรณ์ เอกสารหมายเลข ๑
๒.๒ จำเลยมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวและมารดาหม้ายเพียงลำพัง กล่าวคือจำเลยเป็นบุตรคนที่สองของบิดามารดา โดยมีบิดาชื่อนาย ส. มีมารดาชื่อนาง ก. ซึ่งมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวมสามคน คือคนแรกนาย ธ.เป็นพี่ชาย คนที่สองคือตัวจำเลยและคนที่สามคือนางสาว ณ.เป็นน้องสาว ปรากฏตามบัญชีเครือญาติและบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านท้ายอุทธรณ์ เอกสารหมายเลข ๒ และ ๓ ตามลำดับ บิดาจำเลยได้หย่าขาดจากมารดาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ปรากฏตามใบสำคัญการหย่าท้ายอุทธรณ์ เอกสารหมายเลข ๔ ต่อมาบิดาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ ปรากฏตามสำเนามรณบัตรท้ายอุทธรณ์เอกสารหมายเลข ๕ ภายหลังจากบิดาเสียชีวิตแล้วจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูมารดาหม้ายโดยลำพังมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากนาย ธ.พี่ชายและนางสาว ณ.น้องสาวประกอบอาชีพรับจ้างมีรายได้ไม่แน่นอน หากจำเลยถูกกักขังเป็นเวลา ๑ เดือนนอกจากจะต้องออกจากงานประจำที่ทำอยู่แล้ว การถูกคุมขังด้วยระยะเวลา ๑ เดือนจะเป็นผลเสียต่อตัวจำเลยเอง ครอบครัว และสังคม เพราะว่าจำเลยจะต้องตกงานไม่มีรายได้พอเพียงที่จะสามารถเลี้ยงดูมารดาหม้ายได้ ต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในสังคม เนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงดูแลตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งในที่สุดอาจต้องเป็นภาระของสังคมมากว่าผลดี
๒.๓ จำเลยมีความประพฤติเรียบร้อยและมีคุณความดีมาก่อน กล่าวคือในระหว่างประกอบอาชีพการงานอยู่นั้นผู้บังคับบัญชาของจำเลยคือเจ้าอาวาสวัด ธ.ได้ออกหนังสือรับรองว่าจำเลยมีความประพฤติดี รับผิดชอบในหน้าที่และขยันขันแข็งในการงาน ปรากฏตามหนังสือรับรองการทำงานท้ายอุทธรณ์ เอกสารหมายเลข ๖ นอกจากนี้จำเลยยังได้รับใช้ประเทศชาติโดยการเข้ารับราชการทหารผลัดที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๑๓ ตาคา ๒๕๔๗ เป็นเวลา ๒ ปีเต็มสังกัดกรมอากาศโยธินรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ ซึ่งในระหว่างรับราชการทหารอยู่นั้น ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศได้ออกหนังสือรับรองว่า จำเลยได้ปฏิบัติราชการทหารด้วยความเข้มแข็ง อดทน และเป็นผู้มีวินัยดี ปรากฏตามหนังสือของหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ ท้ายอุทธรณ์หมายเลข ๗
จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่เคารพว่า จำเลยมีเหตุผลสมควรได้รับโอกาสจากศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่เคารพให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีคือ จำเลยมีอาชีพหารงานเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวและมารดาหม้ายเพียงลำพัง มีความประพฤติเรียบร้อยและมีคุณความดีมาก่อนทั้งจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกมาก่อน ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงขอศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่เคารพได้โปรดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยพิพากษาลงโทษจำเลยเพียงสถานเบาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่เคารพจะโปรดเห็นสมควรหรือให้รอการลงโทษจำเลยไว้ก่อนเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการกลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมต่อไปซึ่งจักเป็นพระคุณอย่างล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้แก่จำเลย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ท่านสามารถนำแนวทางการเขียนอุทธรณ์เช่นนี้ไปปรับใช้ให้ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีของท่านได้ หากท่านต้องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษ ต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงข้อเท็จจริงดังนี้ (๑) การมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน (๒) การมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว (๓) การมีความประพฤติเรียบร้อยและมีคุณความดีมาก่อน และ(๔) ไม่ควรจะมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน (สำคัญมาก) ส่วนใหญ่ศาลจะเมตตารอการลงโทษให้ เช่นคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ ภาค ๑ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย (ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หากได้รับสำเนาแล้วจะนำมาเสนอเพื่อให้ท่านตรวจสอบต่อไป)