อำนาจหน้าที่และสิทธิของทนายความในประมวลกฎหมายไทย
อำนาจหน้าที่ของทนายความในประมวลกฎหมายไทยฉบับอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทนายความไว้เลยแต่อย่างใด แต่ในประมวลรัษฎากร มีปรากฏบทบัญญัติที่ให้สิทธิทนายความเพียงแห่งเดียวโดยให้ได้รับการยกเว้นตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ว่า ใบแต่งทนายและใบมอบอำนาจซึ่งทนายความให้แก่เสมียนของตน เพื่อเป็นตัวแทนดำเนินคดีในศาลไม่ต้องเสียอากร
ประมวลกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่และสิทธิของทนายความส่วนใหญ่อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา
(๑) ทนายความมีสิทธิพบและให้คำปรึกษาผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังเป็นการเฉพาะตัว (มาตรา ๗/(๑) , มาตรา ๘๓ วรรคสอง )
(๒) ทนายความมีสิทธิเข้าฟังการสอบปากคำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังในชั้นสอบสวนได้ (มาตรา ๗/(๒) , มาตรา ๑๓๔/๓, ๑๓๔/๔ (๒))
(๓) ทนายความจำเลยมีสิทธิแก้ต่างให้จำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา (มาตรา ๘(๒))
(๔) ทนายความจำเลยมีสิทธิพบและให้คำปรึกษาแก่จำเลยเป็นการเฉพาะตัว (มาตรา ๘(๓))
(๕) ทนายความจำเลยมีสิทธิตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ (มาตรา ๘(๔))
(๖) ทนายความจำเลยมีสิทธิตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่ รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น (มาตรา ๘(๕))
(๗) ทนายความจำเลยมีสิทธิตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของจำเลย (มาตรา ๘(๖))
(๘) ทนายความของผู้ถูกจับมีสิทธิแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน เมื่อศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เพราะพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ หรือ ในกรณีเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น และศาลได้เรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรือเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณา (มาตรา ๘๗ วรรคสามและวรรคเจ็ด)
(๙) ทนายความที่สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายแต่งตั้งให้ดำเนินการแทนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ เมื่อพนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จ ทั้งมีสิทธิและนำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย (มาตรา ๑๕๐ วรรคแปด)
(๑๐) ทนายความของผู้ต้องหามีสิทธิซักค้านพยาน กรณีพนักงานอัยการยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า (มาตรา ๒๓๗ ทวิ)
(๑๑) ทนายความที่ศาลตั้งให้ดำเนินคดีแทน ไต่สวน หรือกรณีที่รัฐจัดหาทนายความให้ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงาน สอบสวนแจ้งข้อหา หรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ทนายความผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (มาตรา ๔๔/๒ , มาตรา ๘๗ วรรคแปด , มาตรา ๑๓๔/๑ วรรคสาม , มาตรา ๑๕๐ วรรคท้าย , มาตรา ๑๗๓ วรรคสาม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(๑) ทนายความมีสิทธิกระทำการแทนคู่ความ ซึ่งคือบุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล (มาตรา ๑(๑๑))
(๒) ทนายความมีสิทธิที่จะอยู่ด้วยกับคู่ความ เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ย เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะต่อหน้าตัวความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยจะให้มีทนายความอยู่ด้วย (หรือไม่อยู่ก็ได้) (มาตรา ๒๐ ทวิ
(๓) ทนายความมีสิทธิที่จะค่าพาหนะเดินทางและคาเช่าพักตามจำนวนที่ศาลจะเห็นสมควร เมื่อศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาเมื่อศาลจะสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณา ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว(มาตรา ๔๐)
(๔) ทนายความมีสิทธิขอเลื่อนคดีต่อศาลโดยอ้างว่าคู่ความฝ่ายตนตกเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ดี หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ไร้ความสามารถได้มรณะหรือหมดอำนาจเป็นผู้แทนก็ดีให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปภายในระยะเวลาอันสมควรเพื่อผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนโดยชอบธรรมคนใหม่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการได้รับแต่งตั้งของตน (มาตรา ๔๕)
(๕) ทนายความที่ได้รับการตั้งทนายความโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความแล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน ใบแต่งทนายนี้ทนายความมีสิทธิใช้ได้เฉพาะคดีเรื่องหนึ่ง ๆ ตามที่ได้ยื่นไว้เท่านั้น เมื่อทนายความผู้ใดได้รับมอบอำนาจทั่วไปที่จะแทนบุคคลอื่นไม่ว่าในคดีใด ๆ ทนายความผู้นั้นสามารถแสดงใบมอบอำนาจทั่วไป แล้วคัดสำเนายื่นต่อศาลแทนใบแต่งทนายเพื่อดำเนินคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป (มาตรา ๖๑)
(๖) ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความก็มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้ หากได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้จะระบุให้ไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น หรือทำเป็นใบมอบอำนาจต่างหากในภายหลังใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ (มาตรา ๖๒)
(๗) ทนายความมีสิทธิที่จะรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งได้ชำระไว้ในศาลหรือวางไว้ยังศาลเป็นเงินค่าธรรมเนียมหรืออย่างอื่น และศาลได้สั่งให้จ่ายคืน หรือส่งมอบให้แก่ตัวความฝ่ายนั้นตามที่ตัวความได้แต่งตั้งทนายความโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการดังกล่าว (มาตรา ๖๓ )
(๘) ทนายความอาจตั้งแต่งให้บุคคลใดทำการแทนได้ โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยาน หรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่งศาลหรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆ รับสำเนาแห่งคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่น ๆตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และ ๗๒ และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้นเมื่อคดีมีเหตุผลพิเศษอันเกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทนายความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ(มาตรา ๖๔)
(๙) ทนายความที่ตัวความได้ตั้งแต่งให้เป็นทนายในคดีจะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นก็ได้ เมื่อแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว เว้นแต่จะหาตัวความไม่พบ (มาตรา ๖๕)
(๑๐) ทนายความมีสิทธิที่จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่ทนายความอีกฝ่ายหนึ่งที่คู่ความตั้งแต่งให้ว่าคดี หรือให้แก่บุคคลที่ทนายความเช่นว่านั้นได้ตั้งแต่ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใด ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๔ นั้น ให้ถือว่าเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา ๗๕)
(๑๑) ทนายความมีสิทธิส่งคำคู่ความ คำร้อง คำแถลง หรือเอกสารอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๓ ทวิ ถ้าผู้รับไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรแต่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน หรือมีตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสารหรือทนายความในการดำเนินคดีอยู่ในราชอาณาจักร ให้ส่งแก่ผู้รับหรือตัวแทนเช่นว่านั้นหรือทนายความ ณ สถานที่ที่ผู้รับหรือตัวแทนใช้ประกอบกิจการ หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทน หรือภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของทนายความซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้รับมิได้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือไม่มีตัวแทนดังกล่าวหรือทนายความอยู่ในราชอาณาจักร ให้ส่งโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาล (มาตรา ๘๓ ตรี)
(๑๒) ทนายความมสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมเบิกความหรือนำพยานหลักฐานนั้น ๆ มาแสดงได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เปิดเผยได้กรณีทนายความจะต้องเบิกความหรือนำพยานหลักฐานชนิดใด ๆ มาแสดง และคำเบิกความหรือพยานหลักฐานนั้นอาจเปิดเผยเอกสารหรือข้อความที่เป็นความลับใด ๆ ซึ่งตนได้รับมอบหมายหรือบอกเล่าจากลูกความในฐานะที่ตนเป็นทนายความ (มาตรา ๙๒(๒))
(๑๓) ทนายความมีสิทธิขอต่อศาลก่อนวันสืบพยานให้ออกหมายเรียกพยานนั้นมาศาลได้ ในกรณีที่ทนายความไม่สามารถนำพยานของตนมาศาลได้เอง โดยศาลอาจให้ทนายความฝ่ายนั้นแถลงถึงความเกี่ยวพันของพยานกับข้อเท็จจริงในคดีอันจำเป็นที่จะต้องออกหมายเรียกพยานดังกล่าวด้วยและต้องส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำแถลงของผู้ขอให้พยานรู้ล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน (มาตรา ๑๐๖)
(๑๔) ทนายความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตนและแสดงตนตามมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ แล้ว หรือถ้าศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อนก็ให้ทนายความซักถามได้ต่อเมื่อศาลได้ซักถามเสร็จแล้ว การซักถามพยานก็ดี การซักค้านพยานก็ดี การถามติงพยานก็ดี ถ้าคู่ความคนใดได้ตั้งทนายความไว้หลายคน ให้ทนายความคนเดียวเป็นผู้ถาม เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น ถ้าพยานเบิกความเป็นปรปักษ์แก่ทนายความฝ่ายที่อ้างตนมา ทนายความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้นเสมือนหนึ่งพยานนั้นเป็นพยานซึ่งทนายความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา (มาตรา ๑๑๗)
(๑๕) ทนายความมีสิทธิซักถามเพิ่มเติมได้ ในคดีมโนสาเร่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเองโดยศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อนให้ทนายความซักถามเพิ่มเติม (มาตรา ๑๙๓ จัตวา)
อำนาจหน้าที่และสิทธิของทนายความมาจากการแต่งตั้งของตัวความเท่านั้น
เนื่องจากอำนาจของทนายความนั้นมาจากการแต่งตั้งของตัวความโดยตรง ซึ่งไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตัวความสามารถที่จะปฏิเสธหรือแก้ไขข้อเท็จจริงที่ทนายความของตนได้กล่าวด้วยวาจาต่อหน้าตนในศาลในขณะนั้นก็ได้ แม้ถึงว่าตัวความหรือผู้แทนนั้นจะมิได้สงวนสิทธิเช่นนั้นไว้ในใบแต่งทนายก็ดี (มาตรา ๖๒ วรรคสอง)