.jpg)
อำนาจหน้าที่และสิทธิของทนายความที่ปรากฏในพระราชบัญญัติอื่นๆ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. ๒๔๙๙
ทนายความของผู้ต้องหามีสิทธิที่จะแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยานได้ ในกรณีการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว (มาตรา ๗)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ทนายความมีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หากเป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความไม่น้อยกว่ายี่สิบปี และมีประสบการณ์ในคดีปกครองตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด (มาตรา ๑๒ (ช))
ทนายความมีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น หากเป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความไม่น้อยกว่าสิบสองปี และมีประสบการณ์ในคดีปกครองตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด (มาตรา ๑๘ (ซ))
ทนายความมีสิทธิ ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ดำเนินการทั้งปวงเพื่อฟ้องคดีหรือดำเนินการแทนผู้ฟ้องคดีได้ (มาตรา ๔๕ )
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
ทนายความไม่สามารถเป็นผู้พิพากษาสมทบได้ (มาตรา ๑๕)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ทนายความไม่สามารถเป็นผู้พิพากษาสมทบได้ (มาตรา ๑๔/๑(๑๓))
ทนายความมีสิทธิจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน (มาตรา ๔๕) (ข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ (ข้อ ๓๗))
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑
ทนายความมีสิทธิจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล (มาตรา ๓๔)
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓
ทนายความไม่สามารถเป็นผู้พิพากษาสมทบได้ (มาตรา ๒๕(๕))
ทนายความมีสิทธิเป็นที่ปรึกษากฎหมายต้องมีคุณสมบัติเป็นทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความและผ่านการอบรมเรื่องวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา การสังคมสงเคราะห์ และความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา (มาตรา ๑๒๑)
ทนายความมีสิทธิที่จะอยู่ด้วยกับคู่ความเพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะต่อหน้าตัวความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยจะให้มีทนายความอยู่ด้วย (หรือไม่ก็ได้) (มาตรา ๑๕๓)
ทนายความซึ่งศาลแต่งตั้งให้ในกรณีคู่ความไม่มีทนายความ มีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (มาตรา ๑๕๘ ) และ “ที่ปรึกษากฎหมาย” หมายความว่า ทนายความซึ่งสอบผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดในข้อบังคับนี้ และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการอบรม ระเบียบปฏิบัติของที่ปรึกษากฎหมายการจดแจ้งและลบชื่อออกจากบัญชีพ.ศ. ๒๕๕๖)
พระราชบัญญัติที่ไม่มีบัญญัติเกี่ยวกับทนายความไว้แต่อย่างใดๆ ได้แก่
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒