.jpg)
ทนายความ:อาชีพการงาน คุณสมบัติ และการศึกษาอบรม
ทนายความ หมายถึง ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ว่าต่างแก้ต่างคู่ความในเรื่องอรรถคดี , เรียกสั้น ๆ ว่าทนาย หรือ ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๕๔๐ และ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔) ทนายความทำหน้าที่ว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น (มาตรา ๓๓)
คุณสมบัติในการเป็นทนายความ
ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (มาตรา ๓๕)
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๓) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาทางนิติศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรืออนุปริญญาจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาทนายความเห็นว่าสถาบันการศึกษานั้นมีมาตรฐานการศึกษาที่ผู้ได้รับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรควรเป็นทนายความได้ และเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
(๔) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่อง ในศีลธรรมอันดีและไม่เป็นผู้ได้กระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
(๕) ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(๗) ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
(๘) ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(๙) ไม่เป็นผู้มีกายพิการหรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพทนายความ
(๑๐) ไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำเว้นแต่ข้าราชการการเมือง
(๑๑) ไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามมาตรา ๗๑
ทนายความในปัจจุบันไม่มีการแบ่งเป็นทนายความชั้นหนึ่งและทนายความชั้นสองดังที่เคยเป็นมาก่อนที่พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.๒๕๒๘ จะประกาศใช้ โดยทนายความชั้นหนึ่งมีคุณสมบัติต่างจากทนายความชั้นสองอย่างสำคัญเพียงประการเดียวคือทนายความชั้นหนึ่งเป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาคือผู้สำเร็จการศึกษาชั้นเนติบัณฑิต (พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๕ และมาตรา ๖) ซึ่งการมีสิทธิว่าความในศาลนั้นทนายความชั้นหนึ่งมีสิทธิว่าความในศาลทั่วราชอาณาจักรส่วนทนายความชั้นสองมีสิทธิว่าความในศาลในเขตจังหวัดที่ทนายความผู้นั้นมีสำนักงานที่จดทะเบียนไว้และจังหวัดอื่นที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยมีสิทธิว่าความในศาลในเขตจังหวัดอื่นนอกจากที่ทนายความผู้นั้นมีสำนักงานจดทะเบียนไว้ได้อีกไม่เกินสี่จังหวัดแต่ต้องเป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับจังหวัดที่ทนายความผู้นั้นมีสำนักงานที่จดทะเบียนไว้ หรือเป็นจังหวัดที่มีเขตต่อเนื่องกันและจังหวัดเหล่านั้นจังหวัดใดจังหวัดนึ่งมีเขตติดต่อกับจังหวัดที่ทนายความผู้นั้นมีสำนักงานที่จดทะเบียนไว้ (พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔ และมาตรา ๙) [ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๘]
การศึกษาและการฝึกฝนอบรมเพื่อเป็นทนายความ
ผู้ที่จะเป็นทนายความต้องผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความและผ่านการฝึกหัดในสำนักงานทนายความอย่างน้อย ๑ ปี ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความนั้น กำหนดไว้เหมือนกับคุณสมบัติในการเป็นทนายความ ข้อ (๑) (๓) (๔) (๕) (๘) ข้างต้น (ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการฝึกอบรมวิชาว่าความ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๕) โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านการฝึกอบรมภาคทฤษฎีไม่น้อยกว่า ๙๐ ชั่วโมง ในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (๑) มรรยาทและจริยธรรมทนายความ (๒) วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (๓) วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (๔) วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายอื่น และ (๕) หลักการให้คำปรึกษากฎหมาย ทั้งยังต้องผ่านการฝึกอบรมภาคปฏิบัติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖ เดือนด้วย (ข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓) โดยการฝึกหัดงานนั้นผู้เข้ารับการฝึกหัดต้องฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความซึ่งผู้ควบคุมการฝึกหัดงานต้องมีใบอนุญาตให้เป็นทนายความเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่า ๗ ปี (ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๕)