.jpg)
ทนายความกับการตลาดแบบตรง
ทนายความที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายทุกประเภททางอินเตอร์เน็ตซึ่งมีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการโทรศัพท์ไปปรึกษาแล้วเก็บเงินเป็นนาที (ทนายความบางแห่งเก็บเงินนาทีละ ๑๔ บาท) หรือการเก็บเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกรายเดือน เดือนละ ๑๐๐ บาทหรือรายปีปีละ ๑,๐๐๐ บาทหรือทนายความบางท่านแจ้งทางโซเชี่ยลเน็ตเวอร์คว่าเขียนหรือโทรปรึกษาทนายความกรุณาอุดหนุนงบประมาณ ๕๐ บาทหรือเขียนที่หน้าเว็บไซต์ว่า อัตราค่าปรึกษาทางไลน์ ๓๐๐/ครั้ง โทรศัพท์ปรึกษาหรือให้โทรศัพท์กลับ ๕๐๐ บาท/ครั้ง ปรึกษาที่สำนักงานทนายความคิดค่าปรึกษา ๒,๐๐๐ บาทต่อครั้ง การคิดค่าปรึกษาดังกล่าวนี้แจ้งไว้ทางอินเตอร์เน็ตอย่างใดๆก็ตามจำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เพราะถือว่ามีระบบการสั่งซื้อ โดยมีการกรอกแบบฟอร์ม e-mail, มีระบบการชำระเงินผ่านธนาคารออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ เช่น การโอนเงินผ่านระบบบัญชีการชาระเงินด้วยบัตรเครดิต , มีระบบสมัครสมาชิก เพื่อรับบริการข้อมูลหรืออื่น ๆ หรือการในทำนองเดียวกันอื่น ๆ โดยมีการคิดค่าใช้จ่ายก็ถือว่าเป็นการขายบริการ การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของทนายความทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าวถือว่าทนายความเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบพาณิชยกิจที่จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙ และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๓)
นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทนายความที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายประเภทใดๆทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่าเข้าข่ายการให้บริการหรือการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพราะเข้าลักษณะการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซี่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจนั้น (พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓)
ทนายความที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายประเภทใดๆทางอินเตอร์เน็ตผู้ประกอบธุรกิจอันเข้าลักษณะตลาดแบบตรงดังกล่าวต้องมีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนมิฉะนั้นทนายความที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายประเภทใดๆทางอินเตอร์เน็ตผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง อาจมีความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ (พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๔๗) แต่ความจริงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันคือ เมื่อผู้บริโภคมีการค้นหาการบริการของทนายความจากเครื่องมือค้นหาของ Google ด้วยคำว่า “ทนายความ” จะพบหน้าเว็บไซต์ซึ่งมีจำนวนผลการค้นหาประมาณ ๑,๐๘๐,๐๐๐ รายการ (๐.๑๕ วินาที) และเมื่อตรวจดูจากหน้าที่ ๑ ถึงหน้าที่ ๑๐๐ จะมีสำนักงานทนายความที่ให้บริการทางกฎหมายทางอินเตอร์เน็ตอย่างน้อยเป็นจำนวนเป็นร้อยๆเป็นพันสำนักงาน ความจริงที่ประชาชนผู้รับบริการในฐานะผู้บริโภคไม่ทราบคือ ทนายความเป็นร้อยเป็นพันรายที่โฆษณาและให้บริการทางกฎหมายทางอินเตอร์เน็ตที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีน้อยคือมีเพียง ๘ แห่งเท่านั้นที่จดจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยิ่งกว่านั้นทนายความเหล่านั้นที่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นก็มีอยู่เพียง ๒ แห่งเท่านั้นคือ (๑) นายเกตุ แรงเพ็ชร (สำนักงานเกตุ แรงเพ็ชร ทนายความ) ขณะนี้สู้คดีดอทคอมทนายความ ได้ยื่นจดทะเบียนตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว (กำลังรอคำสั่งอยู)
สำหรับปัญหาที่พบของผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการทางอินเตอร์เน็ต หรือปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจตลาดแบบตรง (สั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต ) จากการรวบรวมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มี ๔ ประการ คือ (๑) ผู้บริโภคโอนเงินชำระค่าสินค้าให้ผู้ให้บริการแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า , (๒) ผู้บริโภคโอนเงินชำระค่าสินค้าให้ผู้ให้บริการแล้วแต่ได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง เสื่อมคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับสินค้าไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณาหรือประกาศ , (๓) มีการโฆษณาหลอกลวงให้ซื้อสินค้าแต่ไม่มีสินค้าอยู่จริง เป็นเหตุให้ผู้ซื้อในฐานะผู้บริโภคต้องสูญเสียเงินเพื่อชำระค่าซื้อสินค้า (สั่งซื้อสินค้าแล้ว แต่ไม่ได้สินค้า) และ (๔) ผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อกับผู้ขายหรือผู้ให้บริการตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ได้
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้บันทึกสถิติการจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงปัจจุบัน ไว้มีดังนี้ ตลาดแบบตรง จำนวน ๒๑๖ ราย
ทนายความทั้งหลายที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายประเภทใดๆทางอินเตอร์เน็ตอาจคงยังไม่ทราบขั้นตอนต่างๆ หรือเพราะสาเหตุอย่างใดๆก็ตามจึงไม่ได้ทำตามกฎหมายเพราะขั้นตอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้นทำได้ง่าย กล่าวคือ
ทนายความที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายประเภทใดๆทางอินเตอร์เน็ตต้องรวบรวมเอกสารสําหรับการยื่นคําขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดังนี้ ซึ่งได้แก่ (๑) สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนและสําเนาทะเบียนบ้าน , (๒) สําเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนและวัตถุประสงค์นิติบุคคล , (๓) สําเนาหนังสือบริคณห์สนธิ และสําเนาบัญชีผู้ถือหุ้น , (๔) สําเนาบัตรประชาชนและสําเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอํานาจลงชื่อแทนนิติบุคคล (กรณีผู้ยื่นคําขอเป็นนิติบุคคล) , (๕) สําเนาสัญญาเช่าหรือการขอใช้พื้นที่ แผนที่ตั้ง ภาพถ่ายสถานที่ติดต่อของสํานักงานใหญ่ และสํานักงานสาขา (ถ้ามี) , (๖) หนังสือมอบอํานาจ ระบุอํานาจหน้าที่ของผู้รับมอบอํานาจอย่างชัดเจน (กรณีให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคําขอ) , (๗) สินค้าหรือบริการที่ต้องการนําเสนอขาย รวมถึงเอกสารหลักฐานแสดงที่มาของสินค้าหรือบริการ , (๘) เอกสารหลักฐานการได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือตามที่กฎหมายกําหนดในสินค้าหรือบริการ (ถ้ามี) , (๙.)คําอธิบายวิธีการขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งรวมถึงตัวอย่างข้อความที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการนั้น ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวจะต้องมีการระบุถึงข้อความต่อไปนี้ปรากฏอยู่ด้วยได้แก่ (๙.๑) วิธีการสั่งจองหรือสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ (๙.๒) วิธีการชําระเงินของผู้บริโภค (๙.๓) วิธีการส่งสินค้า และ (๑๐) ตัวอย่างเอกสารการซื้อขาย (ใบเสร็จรับเงิน) [ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค]
สิ่งที่น่าตรึกตรองอย่างมากคือ ทนายความเป็นวิชาชีพที่ใช้กฎหมายและความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายในการประกอบอาชีพและต้องมีความเป็นมืออาชีพทั้งต้องเป็นอาชีพในลำดับต้นๆที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงและปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างในการเคารพต่อกฎเกณฑ์และกฎหมาย แต่จากข้อเขียนที่กล่าวมาข้างต้นคงจะพอเห็นได้แล้วว่า ทนายความในประเทศไทยปฏิบัติตนตามกฎหมายหรือไม่และเป็นมืออาชีพที่แท้จริงหรือไม่
ท้ายที่สุด หากทนายความที่ให้บริการปรึกษากฎหมายหรือให้บริการทางกฎหมายประเภทใดๆทางอินเตอร์เน็ตถูกผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการเอาเปรียบผู้บริโภคและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย คงจะลำบากและเสียความน่านับถือในฐานะมืออาชีพที่ทนายความเหล่านั้นต้องมาเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง