.jpg)
ตัวอย่างคำฟ้องเพื่อสั่งสอนทนายความ (เรื่องจริง)
ข้อ ๑. โจทก์ทั้งสองเป็นลูกความของจำเลยซึ่งเป็นผู้บริโภคผู้ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการจงใจกระทำละเมิดและฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบของจำเลยในฐานะผู้มีวิชาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจากการให้บริการของจำเลย
จำเลยเป็นผู้รับจ้างและในฐานะผู้ให้บริการโดยเป็นทนายความ จดทะเบียนเป็นทนายความโดยได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความเลขที่ ---/๒๕๕๐
ข้อ ๒. เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โจทก์ทั้งสองได้ตกลงว่าจ้างจำเลยซึ่งเป็นทนายความและจำเลยตกลงรับจ้างโจทก์ทั้งสองเพื่อทำคำให้การจำเลยแก้คดีแพ่งของศาลนี้ ในคดีหมายเลขดำที่ ----/๒๕๕๗ รายละเอียดปรากฏตาม ใบแต่งทนายความ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑ และ ๒ โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าจ้างให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยอ้างว่าการยื่นคำให้การจำเลยต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลจำนวน ๓๑,๙๕๐ บาท (สามหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) โจทก์ทั้งสองจึงจ่ายเงินค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าวให้จำเลยไป
ต่อมาหลังเสร็จคดี โจทก์ทั้งสองได้ทราบว่าการยื่นคำให้การจำเลยนั้นไม่มีการวางเงินค่าธรรมเนียมศาลจำนวน ๓๑,๙๕๐ บาท (สามหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ดังกล่าวแต่อย่างใดๆ โจทก์ทั้งสองได้ทวงถามให้จำเลยชดใช้คืนเงินที่อ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์ทั้งสองเรื่อยมาหลายครั้งหลายหน จำเลยก็เพิกเฉยตลอดมา จำเลยไม่ยอมชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองแต่อย่างใดๆตลอดมาจนบัดนี้
โจทก์ทั้งสองไม่มีทางใดที่จะบังคับได้จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขออำนาจศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองผู้บริโภค
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายฟ้องคดีผู้บริโภค
ข้อ ๑. ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๑,๙๕๐ บาท (สามหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๑,๙๕๐ บาท( สามหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองผู้บริโภค
เรื่องนี้ คือคดีหมายเลขดำที่ ผบ.๓๑๒๘/๒๕๕๘ ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ
ในวันนัดไกล่เกลี่ย ยื่นคำให้การ หรือนัดสืบพยาน ทนายความรีบนำเงินมาคืนชาวบ้านทั้งสองเต็มจำนวน ๓๑,๙๕๐ บาท (สามหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) และขอร้องให้ถอนคำฟ้องไปจากศาล
ศาลจังหวัดศรีสะเกษอนุญาตให้ถอนคำฟ้อง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๓๘๙๑/๒๕๕๘
คดีเช่นนี้ต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เพราะเคยมีข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นทนายความฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกค่าทดแทนเวนคืนที่ดินจากกรุงเทพมหานครกับพวกรวม ๔ คน โจทก์ทั้งสองโอนเงินให้แก่จำเลยเพื่อฟ้องคดีแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระค่าขึ้นศาลยักยอกเงินของโจทก์ทั้งสองและปลอมแปลงใบเสร็จรับเงินของศาลปกครองกลางนำมาแสดงต่อโจทก์ทั้งสอง จนกระทั่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสองออกจากสารบบความ เมื่อโจทก์ทั้งสองทราบจึงฟ้องจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและยักยอก ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งว่าคดีของโจทก์ทั้งสองมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพและขอชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองตามที่ตกลง ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑ ปี โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๓,๗๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓ คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือตามกฎหมายอื่นกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการได้ความตามคำฟ้องว่า จำเลยประกอบอาชีพทนายความ ให้คำปรึกษากฎหมายตลอดจนรับจ้างว่าความดำเนินคดีในศาลต่างๆโดยถือผลสำเร็จของงาน จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ถือว่าจำเลยเป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์ทั้งสองว่าจ้างจำเลยเป็นทนายความฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางโดยชำระค่าจ้างว่าความ ถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับบริการและเป็นผู้บริโภค เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาจ้างว่าความและค่าเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ เป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธิพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๓ (๑) โดยวินิจฉัยไว้เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ ที่ ๒๗๓/๒๕๕๓