ผู้บริโภค คือ ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ที่ได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
ปัจจุบันมีผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก หากผู้บริโภคเข้าใจถึงสิทธิของตน เมื่อถูกละเมิดสิทธิและได้รับความเสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายได้
สิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายมีดังนี้
๑. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ หมายถึง สิทธิที่จะได้รับข่าวสารจากการโฆษณาหรือการแสดงฉลากที่เป็นจริงจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการซื้อสินค้าหรือบริการ
๒. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ หมายถึง การที่ผู้บริโภคสามารถที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการโดยความสมัครใจ มีอิสระในการตัดสินใจโดยปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรมทั้งปวง
๓. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ หมายถึง การที่ผู้บริโภคใช้สินค้าหรือบริการใดก็ตาม สินค้าหรือบริการนั้นต้องมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานและเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
๔. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา หมายถึง สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ตัวอย่างเช่น สัญญาบางชนิด (เช่น บัตรเครดิต) ทีมีข้อสัญญาว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้บัตร ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ดอกเบี้ยค้างชำระ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้บริโภคทราบ ไม่มีการระบุสิทธิของผู้บริโภคในการขอยกเลิกสัญญา (ดังกล่าว) ข้อสัญญาเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดูตัวอย่าง สัญญาที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิผู้บริโภค
๕. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย หมายถึง กรณีที่ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมีสิทธิในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น เช่น เมื่อไปรับบริการการรักษาในสถานพยาบาลและมีการรักษาที่ผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหาย การฟ้องแพทย์หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจากการผ่าตัดหรือการบริการที่ผิดพลาดนั้น เป็นต้น
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ และได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการให้ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคจึงสามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้ ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายมีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้
๑. กฎหมายนี้ใช้บังคับเฉพาะคดีแพ่ง ที่พิพาทกันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย
๒. การใช้สิทธิและการชำระหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม
๓. การกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ ที่ทำการประกาศโฆษณา คำรับรองหรือการกระทำใดๆ ให้ผู้บริโภคเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ แม้ไม้ปรากฏอยู่ในสัญญาที่ได้ทำเป็นหนังสือไว้ก็ตาม
๔. ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเอง
๕. ภาระการพิสูจน์ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า หรือบริการ
๖. ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบุธุรกิจเปลี่ยนสินค้าให้ผู้บริโภคใหม่ กรณีสินค้านั้นไม่อาจแก้ไขซ่อมแซมได้ หรือนำไปใช้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย อนามัยได้
๗. ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบุธุรกิจที่มีเจตนาจงใจเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นการฝ่าฝืนความรับผิดชอบต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเป็นการลงโทษจากความเสียหายที่แท้จริงด้วย