ในปัจจุบันประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมากทั้งที่ทราบและไม่ทราบ แต่เรื่องที่ท่านและประชาชนคนอื่นในฐานะผู้บริโภคจำเป็นต้องทราบเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญามีดังนี้
(๑) ธุรกิจบัตรเครดิต เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต ผู้ประกอบูรกิจจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บัตรเครดิตทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน การยกเลิกสัญญาหรือการใช้บัตรชั่วคราวผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเหตุผลให้ทราบ เช่น คดีหนี้บัตรเครดิต คดีหนี้บัตรอิออน เป็น
(๒) ธุรกิจขายก๊าชหุงต้มที่เรียกเก็บเงินประกันถังก๊าซหุงต้ม เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ซึ่งต้องระบุข้อความว่าท่านมีสิทธิได้รับเงินประกันคืน เมื่อท่านนำถังก๊าซหุงต้มคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
(๓) ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา การยึดรถคืนได้ต่อเมื่อท่านผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกัน ๓ งวด และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ท่านนำเงินที่ค้าง(จดหมายทวงหนี้)ไปชำระในเวลาอย่างน้อย ๓๐ วัน
(๔) ธุรกิจขายห้องชุด เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยกำหนดให้ระบุหน้าที่ของท่านที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาและหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ท่านเมื่อใด นอกจากนี้ยังต้องระบุวัสดุประเภทต่างๆที่นำมาก่อสร้าง รวมทั้งห้ามใช้ข้อความที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบที่เกิดจากความผิดของผู้ประกอบธุรกิจ
(๕) ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา สาระสำคัญที่ควบคุม เช่น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องส่งใบแจ้งการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ท่านทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนวันครบกำหนดชำระและท่านมีสิทธิขอรับใบแจ้งรายการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และหากผู้ประกอบธุรกิจมาสามารถคืนเงินประกันการใช้หมายเลขให้แก่ท่านได้ตามที่กำหนด ผู้ประกอบธุรกิจต้องชำระดอกเบี้ยในอันตราร้อยละสิบห้าต่อปี เป็นต้น
(๖) ธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา กำหนดให้ข้อสัญญา สามารถอ่านได้ชัดเจน ตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร หากมีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงใดๆต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบเป็นหนังสือในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
(๗) ธุรกิจให้เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา กำหนดให้บอกรายละเอียดของสินค้า รวมถึงสภาพว่าเป็นสินค้าใหม่หรือใช้แล้ว ค่าธรรมเนียมต่างๆที่ผู้เช่าซื้อต้องชำระต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อชำระภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง เป็นต้น
(๘) ธุรกิจให้บริการซ่อมรถยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน หลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้แก่ท่านต้องระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ วันเดือนปีที่รับซ่อมและที่ซ่อมเสร็จ รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่ทำการซ่อม ระยะทางหรือเลขไมล์ของรถในวันที่ซ่อมและที่ซ่อมเสร็จ รายการที่ซ่อม ราคาค่าแรง กรณีมีการเปลี่ยนอะไหล่ต้องระบุรายการ ยี่ห้อ สภาพและราคาอะไหล่ นอกจากนี้ต้องระบุการรับประกัน พร้อมทั้งต้องมีลายมือชื่อผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินดังกล่าวด้วย
(๙) ธุรกิจการขายรถยนต์ใช้แล้ว เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน หลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้แก่ท่านต้องระบุรายละเอียดของรถอย่างครบถ้วน รวมทั้งวันเดือนปี ที่ส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่ท่าน และห้ามใช้ข้อความที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจยึดเงินทั้งหมดไม่ว่ากรณีใดๆและข้อความที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ใช้แล้ว
(๑๐) ธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกัน เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน การเช่าที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร อาคารชุด อพาร์ตเมนท์ หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่น รวมถึงหอพัก หากมีการเรียกเงินประกัน จะต้องระบุข้อความในหลักฐานการรับเงินตามที่กำหนดและต้องระบุจำนวนเงินประกันและสิทธิที่จะได้รับคืนเงินประกันทันที่เมื่อสิ้นสุดสัญญา หรือภายใน ๗ วัน หากผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ
(๑๑) ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ข้อสัญญาที่ระบุยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต อุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติม สิทธิประโยชน์ จำนวนเงินหรือสิ่งที่ได้รับไว้เป็นมัดจำ ราคาจำหน่าย ฯลฯ นอกจากนี้ยังให้สิทธิท่านในการบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดที่ระบุไว้ และเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินจองหรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำภายใน สิบห้าวัน
การฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิของท่านดังกล่าวข้างต้น โดยผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดไม่ส่งมอบสัญญาที่มีข้อสัญญาหรือมีข้อสัญญาและแบบถูกต้อง หรือไม่ส่งมอบหลักฐานการรับเงินที่มีรายการและข้อความถูกต้องให้แก่ท่านหรือผู้บริโภคภายในระยะเวลาตามที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากท่านถูกละเมิดสิทธิสามารถร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้
ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
โปรดดู การละเมิดสิทธิผู้บริโภค