ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่..... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๖.๓๐ น. ตำรวจกองบังคับการตำรวจ.....ได้นำหมายค้นของศาลอาญาที่...../๒๕๔๖ ไปตรวจค้นที่บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด ห้องเลขที่..... ชั้น ๓ อาคารไทม์ สแควร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พบเทปวัสดุโทรทัศน์แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ต่างประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากนายทะเบียนและไม่ผ่านพิธีศุลกากร ต่อมาวันเดียวกัน เวลา ๑๘.๓๐ น. ผู้ต้องหาซึ่งเคยเป็นผู้มีชื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัทฯแล้วในวันและเวลาที่บริษัทฯถูกตรวจค้น ได้เดินทางไปที่บริษัท ภาพยนตร์ จำกัดสถานที่เกิดเหตุเนื่องจากต้องการแสดงความบริสุทธิ์และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจค้นได้จับกุมตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีเนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีชื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากเจ้าพนักงานให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และนำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซึ่งสินค้าต้องห้ามต้องจำกัดโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งๆที่ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดซึ่งหน้าและไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลและนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี โดยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อกระบวนการสอบสวนดำเนินไปจนถึงที่สุด ในคดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา หลังจากนั้นผู้ต้องหาผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกจับกุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจชุดตรวจค้น/จับกุมดังกล่าว ตามสิทธิในฐานะผู้เสียหายซึ่งสามารถฟ้องคดีได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ (๒) การฟ้องคดีอาญาเองนอกจากจะรวดเร็วแล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้รับการยกโทษได้ชดเชยความเสียหายตามที่ควร หากไม่เปิดโอกาสเช่นนี้ อาจจะเกิดเหตุการณ์ทางใดทางหนึ่งดังนี้คือ เจ้าพนักงานตำรวจชุดตรวจค้น/จับกุมอาจมีความผิดถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกและอาจถูกออกจากราชการทั้งชุด หรือ ผู้เสียหายอาจหายไปจากโลกนี้ เมื่อผู้เสียหายตรวจดูกฎหมายแล้วและเห็นว่าเข้าเกณฑ์ครบองค์ประกอบของกฎหมายอาญามาตราใด ผู้เสียหายก็ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายชุดนี้เป็นจำเลยทุกกรรมทุกกระทงไป การมีเรื่องกับตำรวจในทางคดีนั้นแม้จะไม่ง่ายแต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินไป เมื่อเรามั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นจะเป็นใครมีตำแหน่งใดหรือชั้นยศใดก็ตามก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเช่นกัน ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ตัดสินใจฟ้องตำรวจชุดตรวจค้น/จับกุมนี้ ในลักษณะฟ้องคดีเพื่อสั่งสอนเท่านั้น ไม่ได้มีความประสงค์จะเอาถึงขั้นให้ตายกันไปข้างหนึ่งหรือไม่ให้มีทางออกเสียเลย การฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองใช้แบบพิมพ์ของศาล หมายเลข (๔) คำฟ้อง โดยมีเนื้อหาดังนี้
ข้อหาหรือฐานความผิด เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ , ความผิดต่อเสรีภาพ , เจ้าพนักงานทำและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ , ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ , เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ ,ซ่องโจร , แจ้งความเท็จมีเหตุฉกรรจ์ , แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ และความผิดหมิ่นประมาท
ข้อ ๑.ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยทั้งห้าเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่ง รองผู้กำกับการ ๓ กองบังคับการตำรวจ..... จำเลยที่ ๓ ดำรงตำแหน่ง สารวัตรแผนก ๑ กองกำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจ..... จำเลยที่ ๔ ดำรงตำแหน่งรองสารวัตร แผนก ๔ กองกำกับการ ๓ กองบังคับการตำรวจ..... จำเลยที่ ๕ ดำรงตำแหน่ง พนักงานสอบสวน (สบ.๑) แผนก ๒ กองกำกับการ ๑ กองตำรวจ..... จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้อีกทั้งมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
๑.๑ เมื่อวันที่.....กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลากลางวันและกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้าได้ปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาเลขที่...../๒๕๔๖ ไปทำการตรวจค้นที่ บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด ห้องเลขที่.....ชั้น ๓ อาคารไทมส์ สแควร์ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๔๖ ถนนสุขุมวิท ๑๒-๑๔แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครและจำเลยทั้งห้าได้บังอาจสมคบร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์กล่าวคือ
จำเลยทั้งห้าได้จับกุมโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้เพราะเป็นการจับกุมโจทก์โดยไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล อีกทั้งโจทก์มิได้กระทำผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับกุมโจทก์ได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติและโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใดๆทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะการจับกุมโจทก์ของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต่อมาจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันควบคุมตัวโจทก์นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกการตรวจยึด/จับกุม ที่จำเลยทั้งห้าได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้จับกุมท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข ๑
๑.๒ ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑ จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารได้ทำเอกสารบันทึกการตรวจยึด/จับกุมโดยร่วมกันกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยแบ่งหน้าที่ให้จำเลยที่ ๔ เป็นผู้เขียนกรอกข้อความแทน จำเลยทั้งห้าได้รับรองเป็นหลักฐานต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จว่า “การกระทำของ บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด โดยนาย ป.ในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัวเป็นการกระทำผิดพ.ร.บ.ควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต , นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้มีผู้รับรองสำเนาเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตน นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้อหา นำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสินค้าต้องห้ามต้องจำกัดโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยจำเลยทั้งห้าได้ลงลายมือชื่อของตนรับรองไว้ในฐานะผู้จับกุมท้ายเอกสารบันทึกดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารบันทึกการตรวจยึด/จับกุมกุม ท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข ๑ แต่ความจริงคือนาย ป. (โจทก์) มิได้เป็นกรรมการบริษัท ภาพยนตร์ จำกัด จึงไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายอย่างใดๆในฐานะนิติบุคคล เนื่องจากได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนให้โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการออกจากบริษัท ภาพยนตร์ จำกัด แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๕ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าวจากสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ และโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายอย่างใดๆในฐานะส่วนตัวด้วย และในเอกสารบันทึกการตรวจยึด/จับกุม ซึ่งปรากฏตามเอกสารหมายท้ายฟ้องหมายเลข ๑ นั้นจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกรอกข้อความรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารการตรวจยึด/จับกุมนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จว่า “เสร็จสิ้นการตรวจค้นเวลา ๑๘.๐๐ น.” แต่ความจริงนั้นการตรวจค้นเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น. การที่จำเลยทั้งห้าได้ทำและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวข้างต้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องถูกจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามฟ้องข้อ ๑.๑
๑.๓ ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑ จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันทำเอกสารบันทึกตรวจยึด/จับกุมตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ ดังกล่าวข้างต้นมีข้อความว่า “การกระทำของ บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด โดยนาย ป.ในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว เป็นการกระทำผิดพ.ร.บ.ควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต , นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้มีผู้รับรองสำเนาเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตน นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้อหา นำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสินค้าต้องห้ามต้องจำกัดโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” และข้อความที่ว่า“เสร็จสิ้นการตรวจค้นเวลา ๑๘.๐๐ น.” อันเป็นความเท็จ โดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นซึ่งเป็นการทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จและจำเลยทั้งห้านำบันทึกการตรวจยึด/จับกุมส่งมอบให้ พ.ต.ท. ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เพื่อให้ พ.ต.ท. ว พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง หรือ เชื่อว่าความผิดอาญาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นร้ายแรงกว่าที่เป็นจริง ซึ่งความจริงโจทก์มิได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใดๆ การกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
๑.๔ ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑ จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา คือจัดการตามหมายค้นของศาลอาญา เลขที่...../๒๕๔๖ กระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบโดยได้ร่วมกันจับกุมโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะเป็นการจับกุมโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งหรือหมายของศาลอีกทั้งโจทก์มิได้กระทำผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับกุมโจทก์ได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติตามคำฟ้องข้อ ๑.๑ จำเลยทั้งห้าได้ทำและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามคำฟ้องข้อ ๑.๒ และการทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามคำฟ้องข้อ ๑.๓ นั้นเป็นการเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเพราะจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดกฎหมายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
๑.๕ ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรโดยจำเลยได้ร่วมสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจับกลุ่มปรึกษาตกลงกันโดยมีเจตนาเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยร่วมกันจับกุมโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวในฟ้องข้อ ๑.๑ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นความผิดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาคสอง ของประมวลกฎหมายอาญาและความผิดดังกล่าวนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและมีเจตนาเพื่อกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษตามคำฟ้องข้อ ๑.๔ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นความผิดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาคสองของประมวลกฎหมายอาญาและความผิดดังกล่าวนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต การร่วมกันกระทำความผิดฐานซ่องโจรของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
๑.๖ ต่อมาตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันนำข้อความอันเป็นเท็จที่ว่า “การกระทำของ บริษัท ภาพยนตร์ จำกัดโดยนาย ป ในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว เป็นการกระทำพ.ร.บ.ควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต , นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้มีผู้รับรองสำเนาเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนนอกจากนี้ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้อหา นำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสินค้าต้องห้ามต้องจำกัด โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแจ้งแก่ พ.ต.ท.ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา โดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่ว่าความจริงมิได้มีการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ว่าได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งห้ามีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ความจริงคือโจทก์มิได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใดๆทั้งสิ้น ด้วยการร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาของจำเลยทั้งห้านั้นซึ่งอาจทำให้ พ.ต.ท.ว , สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย คือโจทก์ต้องถูกพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน พิมพ์ลายนิ้วมือ ถูกควบคุมตัว ต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจากการถูกควบคุมตัว ต้องเสียชื่อเสียง ต้องมีประวัติที่ด่างพร้อย
๑.๗ ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ พ.ต.ท. ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนเวรให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานคือจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ ๑๔ เวลา ๒๓.๕๐ น. ลงวันที่..... กรกฎาคม ๒๕๔๖ ว่า“ข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์เทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต, นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบของเจ้าพนักงานผู้ตรวจให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้มีผู้รับรองสำเนาเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตน และยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้อหา นำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสินค้าต้องห้าม ต้องจำกัด โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตผู้ต้องหานาย ป อายุ.....ปี เหตุเกิดจับกุมได้เลขที่ ๒๔๖ อาคารไทม์ สแควร์ ห้องเลขที่..... ถนนสุขุมวิทซอย ๑๒ – ๑๔ แขวง/เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร บริษัท ภาพยนตร์ จำกัด” ซึ่งความจริงคือจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใดๆทั้งสิ้นและการจับกุมโจทก์เกิดขึ้นที่ห้องเลขที่.....ไม่ใช่ดังที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันแจ้งว่าจับกุมที่ห้องเลขที่..... รายละเอียดปรากฏตาม สำเนาภาพถ่ายรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันเกี่ยวกับคดี ของสถานีตำรวจนครบาล ลุมพินี ข้อ ๑๔ เวลา ๒๓.๕๐ น. ลงวันที่.....กรกฎาคม ๒๕๔๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ซึ่งการแจ้งให้ พ.ต.ท.ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ พ.ต.ท.ว , สำนักงานตำรวจแห่งชาติและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือโจทก์ต้องถูกพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน พิมพ์ลายนิ้วมือถูกควบคุมตัว ต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจากการถูกควบคุมตัว ต้องเสียชื่อเสียง ต้องมีประวัติที่ด่างพร้อย
๑.๘ ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ๑.๑ จำเลยทั้งห้าได้บังอาจสมคบร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ต่อ พ.ต.ท.ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า “ข้อกล่าวหา ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต , นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์และมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้มีผู้รับรองสำเนาเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตน นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้อหา นำสินค้า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสินค้าต้องห้ามต้องจำกัด โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ต้องหา นาย ป อายุ ๔๖ ปี ” ซึ่งข้อความดังกล่าวข้างต้นปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ นั้น และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นความเท็จ อันเป็นการใส่ความโจทก์ต่อ พ.ต.ท.ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ทำให้ พ.ต.ท.ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันแจ้งข้อความดังกล่าวต่อ พ.ต.ท.ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
เหตุตามฟ้องข้อ ๑.๑ – ๑.๘ เกิดที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตยและแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครต่อเนื่องกัน
ข้อ ๒.คดีนี้ในส่วนที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายแล้ว ในส่วนที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินนั้น โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเนื่องจากจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โจทก์เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและโจทก์ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งห้าด้วยตนเอง
อนึ่ง เนื่องจากจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายแต่กลับมาบังอาจสมคบร่วมกันเป็นผู้กระทำความผิดต่อหน้าที่เป็นซ่องโจรเสียเอง เป็นพฤติการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงและฝ่าฝืนต่อหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างมาก ขอศาลได้โปรดลงโทษจำเลยทั้งห้าสถานหนักด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายฟ้องอาญา
การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตราดังนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๘ , ๓๑ , ๒๓๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๐ , ๙๑ , ๑๓๗ , ๑๕๗ , ๑๖๒ , ๑๗๒ , ๑๗๓ , ๑๗๙ , ๒๐๐ , ๒๖๗ , ๓๑๐ , ๓๒๖ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔
ขอให้ศาลออกหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้
๑. –
๒. –
๓. –
๔. –
ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาคำฟ้องโดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกัน มาด้วย ห้า ฉบับ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว
ลงชื่อ.....โจทก์
คำฟ้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า....โจทก์ อยู่บ้านเลขที่.....ถนน.....ตรอก/ซอย.....ใกล้เคียง.....ตำบล/แขวง.....อำเภอ/เขต.....จังหวัด.....เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ.....ผู้เรียงและพิมพ์
คดีนี้เมื่อถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลได้พยายามให้โอกาสโจทก์และจำเลยทำการเจรจาไกล่เกลี่ยกันและทั้งทนายความจำเลยแจ้งว่าจำเลยผู้ถูกฟ้องประสงค์จะชดใช้ค่าเสียหาย จนในที่สุดได้มีการเจรจาและตกลงกันโดยจำเลยทั้งห้ายินยอมและเต็มใจชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายตามสมควร