.jpg) |
ข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทน
จำนวนทุนทรัพย์ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๑. โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทย ปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ และ ๒ มีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ซึ่งการจับคุมขังตัวโจทก์อันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำไม่ได้ ทั้งมาตรา ๓๒ นั้น การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ และโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูยนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลได้ตามมาตรา ๒๘
จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ (สบ.๓) สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญา เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๖), (๑๑), (๑๖) และหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยจรรยาบรรณพนักงานสอบสวน พ.ศ.๒๕๔๔ ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ข้อ ๓(๑) ซึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ.๒๕๔๗ มีอำนาจหน้าที่ดูแลควบคุมและกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑
ข้อ ๒. เมื่อวันที่ .... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ ..... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๑ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวร ณ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายกล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบการควบคุมตัวโจทก์จากการจับกุมที่มิชอบด้วยกฎหมายของ พ.ต.ท. บ. กับพวกรวม ๕ คน โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ เพราะว่าการจับกุมโจทก์นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ พ.ต.ท. บ. กับพวกรวม ๕ คน กำลังตรวจค้นบริษัท ม. จำกัด อยู่ตามหมายค้นของศาลอาญาและโจทก์ซึ่งเดินทางไปถึงบริษัท ม. จำกัด อันเป็นสถานที่ซึ่งกำลังถูกตรวจค้นในเวลาภายหลังการเริ่มการตรวจค้นแล้วและโจทก์ได้ถูกจับกุมเนื่องเพราะสาเหตุเพียงอย่างเดียวคือเป็นผู้มีชื่อในใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์เท่านั้น รายละเอียดปรากฎตาม สำเนาภาพถ่ายหมายค้นของศาลอาญาเลขที่ ..../....., ใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ เลขที่ ....../...... และสำเนาภาพถ่ายการตรวจยึด/จับกุม ฉบับลงวันที่ .... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓, ๔ และ ๕ ตามลำดับ การจับกุมโจทก์ ของ พ.ต.ท. บ. กับพวกรวม ๕ คน จึงเป็นการจับกุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการจับกุมโจทก์โดยไม่คำสั่งหรือหมายของศาล อีกทั้งโจทก์ไม่ได้กระทำผิดซึงหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับโจทก์ได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๒
ต่อมาตามวันและเวลาเกิดเหตุ เมื่อจำเลยที่ ๑ ในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้รับมอบการควบคุมตัวโจทก์จากการจับกุมที่มิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว และรับแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมทั้งได้รับหลักฐานต่างๆ จาก พ.ต.ท. บ. กับพวกรวม ๕ คน ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓, ๔ และ ๕ เช่นนั้นแล้วจำเลยที่ ๑ ได้ทำการสอบสวนโจทก์และได้รับมอบพยานหลักฐานจากโจทก์ที่แสดงว่าโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้เป็นกรรมการบริษัท ม. จำกัด ในขณะเกิดเหตุที่ถูกกล่าวหาตามข้อกล่าวหาข้างต้น แต่มีบุคคลอื่นเป็นกรรมการ คือหนังสือรับรองของบริษัท ม. จำกัด ฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖ รายละเอียดปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองดังกล่าว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖ อีกทั้งโจทก์ให้การปฎิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาและได้ลาออกจากกรรมการบริษัท ม. จำกัด นานหลายเดือนแล้ว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกคำให้การผู้ต้องหาราย นาย ป. ฉบับลงวันที่ .... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ประกอบกับสิทธิของโจทก์ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา๓๙ ซึ่งบัญญัติว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา (คือโจทก์) ไม่มีความผิดและจำเลยที่ ๑ ย่อมรู้และเข้าใจอย่างชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวอีกทั้งไม่มีเหตุอันจะควบคุมตัวโจทก์ไว้ได้ต่อไปตามกฎหมายแต่อย่างใดๆ ถึงแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๖ จะบัญญัติให้พนักงานสอบสวนจับและควบคุมผู้ต้องหาหรือบุคคลใดซึ่งในระหว่างสอบสวนปรากฎว่าเป็นผู้กระทำผิดได้ก็ตาม แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่อาจบังคับใช้ได้อีกต่อไป เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓๒ แต่จำเลยที่ ๑ ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนมาเป็นระยะเวลายาวนานจนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษต้องทราบและเข้าใจถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลตามรัฐธรรมนูญอย่างดีและทราบเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ คือจำเลยที่ ๑ ได้ควบคุมตัวโจทก์ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้ เพราะเป็นการควบคุมตัวโจทก์ไว้โดยไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล อีกทั้งโจทก์มิได้กระทำผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้ควบคุมตัวโจทก์ ไว้ได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ และโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใดๆ อีกทั้งเมื่อโจทก์ถูกจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการจับกุมของ พ.ต.ท. บ. กับพวกรวม ๕ คน ดังกล่าว ข้างต้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ ยิ่งไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวโจทก์ไว้ต่อเนื่องจากการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นด้วย ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะการควบคุมตัวโจทก์ของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ขาดความน่าเชื่อถือในหน้าที่การงาน ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้มอบหมายการควบคุมตัวโจทก์ให้แก่สิบเวรสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี รายละเอียดปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ .... ลงวันที่ .... กรกฎาคม ๒๕๔๖, สำเนาภาพถ่ายบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหารายนาย ป., สำเนาภาพถ่ายบันทึกการควบคุมผู้ต้องหา, สำเนาภาพถ่ายคำร้องขอประกันตัว, สำเนาภาพถ่ายบันทึกเสนอสัญญาประกัน และสำเนาภาพถ่ายหนังสือกองบังคับการตำรวนท่องเที่ยว เรื่องรายงานผลตามหมายค้นเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๘ - ๑๓ ตามลำดับ
การที่จำเลยที่ ๑ การควบคุมตัวโจทก์โดยไม่มีอำนาจนั้น เรื่องนี้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ทราบและเข้าใจอย่างชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ / ในฐานะพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาหรือบุคคลใดซึ่งระหว่างการสอบสวนปรากฏว่าเป็นผู้กระทำผิดนั้นโดยไม่มีหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓๒ เพราะว่าจำเลยที่ ๒ ได้เคยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตช๐๐๐๔.๖/๔๙๒๑ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๖ แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือนี้แล้วว่า “ ประเด็นที่สี่ กรณีตามมาตรา ๑๓๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เห็นว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนจะจับและควบคุมหรือจัดการให้จับหรือควบคุมผู้ต้องหาหรือบุคคลใดซึ่งระหว่างการสอบสวนปรากฎว่าเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ไม่ถือเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับได้โดยไม่มีหมายตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย โดยเจ้าพนักงานจะต้องขอหมายจับจากศาลเสียก่อน” รายละเอียดปรากฎตาม สำเนาภาพถ่ายบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) เรื่องเสร็จที่ ๔๕๒/๒๕๔๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๔
ข้อ ๓. ต่อมาเมื่อวันที่ .... พฤษภาคม ๒๕๔๗ หัวหน้าพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ๓ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในเรื่องที่ถูกกล่าวหาข้างต้น รายละเอียดปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส(สฝศท๓)......../....... เรื่องแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง และสำเนาภาพถ่ายหนังสือสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ที่ ตช๐๐๑๑(บก.๕)๐๔/...... ฉบับลงวันที่ ..... พฤษภาคม ๒๕๔๗ เรื่องแจ้งผลคดี เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๕ และ ๑๖ ตามลำดับ
การที่จำเลยที่ ๑ ควบคุมตัวโจทก์ไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวในฟ้องข้อ.๒ นั้น ทำให้โจทก์เสื่อมเสียเสรีภาพในร่างกาย เสื่อมเสียชื่อเสียง และขาดความน่าเชื่อถือในตำแหน่งหน้าที่การงานในฐานะข้าราชการ ต้องรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชา รายละเอียดปรากฎตามสำเนาภาพถ่าย หนังสือสถานีตำรวนนครบาลลุมพินี ที่ ตช ๐๐๑๑(บก.๕)๐๔/...... ฉบับลงวันที่ .... กรกฎาคม ๒๕๔๖ เรื่องการแจ้งต้องหาคดีอาญาและบันทึกข้อความสำนักงาน ที่ (กท.)๐๐๐๕/..... ฉบับลงวันที่ .... สิงหาคม ๒๕๔๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๗ และ ๑๘ ตามลำดับ ทำให้ประวัติการรับราชการของโจทก์ต้องมัวหมอง โจทก์เสียหายคิดเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์เสื่อเสียเสรีภาพในร่างกายเป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท และค่าสินไหมทดแทนจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงและขาดความน่าเชื่อถือในตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ในฐานะข้าราชการทำให้ประวัติการรับราชการต้องมัวหมองเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน)
จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ / ในผลแห่งละเมิดที่ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปในทางการจ้างนั้น คือการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวข้างต้น
โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายคำฟ้องแพ่ง
เพราะฉะนั้นขอศาลออกหมายเรียกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษาและบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้
๑.ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อ
ปีของต้นเงินจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องคดีนี้จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
๒.ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย
ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนคำฟ้องโดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วย สอง ฉบับ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบด้วย
................................................................โจทก์
หมายเหตุ ปัจจุบันต้องฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นจำเลยเท่านั้น เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕
ความจริงโจทก์ทราบเรื่องนี้ดี แต่โจทก์ประสงค์จะฟ้องเพื่อสั่งสอนและทำให้จำเลยที่ ๑ เกิดความยุ่งยาก และต้องไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานอัยการเพื่อให้ถ้อยคำประกอบการให้การต่อสู้คดี