ข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดบริเวณถนนอ่อนนุช แต่ผู้จะขายผิดสัญญาสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จโดยได้รับเงินไปจากผู้บริโภคเป็นจำนวนหลายสิบราย โดยไม่ยอมคืนเงินให้ผู้บริโภคด้วย คดีผู้บริโภคนั้นมีหลายประเภท เช่น เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างทำของ รับขน สินเชื่อบุคคล กู้ยืม ค้ำประกัน บัตรเครดิต รวมทั้งซื้อขายบ้าน/อาคารพาณิชย์/อาคารชุด/ที่ดินเปล่าด้วย หากท่านเป็นผู้บริโภคและถูกละเมิดสิทธิในเรื่องการซื้อขายบ้าน/อาคารพาณิชย์/อาคารชุด/ที่ดินเปล่า คล้ายกันกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ท่านสามารถนำตัวอย่างคำฟ้องนี้ไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีของท่านได้ การฟ้องคดีผู้บริโภค ใช้แบบพิมพ์ของศาล คือ แบบพิมพ์คำฟ้องผู้บริโภค (แบบ ผบ.๑) ตัวอย่างคำฟ้องนี้เป็นเรื่องการผิดสัญญาขายอาคารชุด โดยคำฟ้องมีเนื้อความดังนี้
เรื่อง ประกอบธุรกิจ ผิดสัญญา ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและเรียกเงินคืน จำนวนทุนทรัพย์ ๒๘๒,๐๒๗ บาท.....สตางค์
ข้อ ๑. โจทก์เป็นลูกค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อและเป็นผู้ได้รับบริการโดยได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากจำเลยผู้ประกอบธุรกิจการจัดสรรที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้านตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆเพื่อการจำหน่ายเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยโจทก์เป็นผู้ซื้อและผู้ชำระค่าบริการเป็นเงินให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้บริโภคตามกฎหมาย
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท.....จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ถนนและงานก่อสร้างอย่างอื่นทุกชนิด รวมทั้งประกอบกิจการซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า จำนองหรือจัดหาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจของบริษัท รวมทั้งการจัดสรรที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน อาคาร อาคารพาณิชย์ ห้องชุดตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นเพื่อการจำหน่าย มีกรรมการหนึ่งคนคือ.....กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ.....ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑
ข้อ ๒.เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จำเลยได้ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน อาคาร อาคารพาณิชย์ ห้องชุดตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นเพื่อการจำหน่าย โดยได้จัดสรรห้องชุดอาคารชุด ก ข ค ง จ และ ฉ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการ ก สเป สุขุมวิท” ตั้งอยู่ที่ถนนอ่อนนุช (สุขุมวิท ๗๗) แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร บนที่ดินโฉนดเลขที่....ตำบลสวนหลวง อำเภอสวนหลวง กรุงเทพมหานคร มีจำเลยเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจำเลยได้โฆษณาด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ ลงโฆษณาในวารสารเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ฉบับต่างๆ และโฆษณาในอินเทอร์เน็ต ด้วยข้อความว่า ....อาคารชุดสุดหรูอยู่อาศัยเหนือระดับอย่างประทับใจ สะดวกปลอดภัยและข้อความอื่นๆที่มีความมุ่งหมายโฆษณาอวดอ้างบริการธุรกิจจัดสรรที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน อาคาร อาคารพาณิชย์ ห้องชุดและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจำเลย ปรากฏรายละเอียดตามสำเนาเอกสารการโฆษณาและสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ และ ๓ ตามลำดับ จำเลยจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ทั้งตัวกรรมการของจำเลยเองได้พูดจูงใจให้โจทก์ในฐานะผู้บริโภคซื้อบริการจากจำเลยและให้โจทก์มอบเงินให้จำเลยเป็นค่าซื้ออาคารชุด โดยการโฆษณาดังกล่าว ทำให้โจทก์หลงเชื่อจึงเข้าผูกนิติสัมพันธ์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดอาคารชุด “โครงการ ก สเป สุขุมวิท” อาคาร จ ห้องชุดเลขที่ ดาดี ๓๑๐ ชั้นสาม แบบ ๑ อาร์บี พื้นที่ห้องชุดประมาณ ๓๔.๙๕ ตารางเมตร จำนวน ๑ ห้อง ราคา ๑,๕๐๗,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยโจทก์ได้ชำระเงินมัดจำในการจอง ๑๐,๐๐๐ บาท โดยจ่ายเงินซื้ออาคารชุดกับจำเลยโดยกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯจำเลยได้รับเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นค่ามัดจำซื้ออาคารชุด และในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดได้ชำระเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทและได้ผ่อนเงินดาวน์เป็นรายงวดเดือนจำนวน ๒๐ งวดงวดละ ๗,๓๐๐ บาท รวมเป็นเงินดาวน์จำนวน ๑๔๖,๐๐๐ บาทจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ไปแล้วปรากฏตามสำเนาใบเสร็จรับเงินของบริษัทฯจำเลยซึ่งลงชื่อโดยกรรมการจำเลย เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔
ข้อ ๓. ภายหลังจากที่โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยและได้ชำระราคาซื้อขายบางส่วน โดยได้ชำระในวันจอง วันทำสัญญาและผ่อนชำระเงินเป็นงวดๆตามข้อตกลงในสัญญาให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องก่อสร้างอาคารห้องชุดให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ ๑๐.๓ ระบุว่า “ผู้จะขายตกลงจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ ๑๒ เดือนนับแต่.....ในกรณีที่การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงโดยมิใช่ความผิดของผู้จะขาย ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาและหรือวันครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ออกไปได้เท่ากับระยะเวลาที่การก่อสร้างต้องหยุดชะงักแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งปี โดยผู้จะขายจะแจ้งเหตุดังกล่าวพร้อมด้วยหลักฐานเป็นหนังสือให้ผู้จะซื้อทราบภายใน ๗ วันนับแต่เหตุนั้นได้สิ้นสุดลงและไม่ถือว่าผู้จะขายผิดสัญญาแต่อย่างใด ในกรณีตามวรรคก่อนผู้จะซื้อไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าปรับค่าเสียหายใดๆเนื่องจากเหตุล่าช้าที่ผู้จะขายได้แจ้งให้ทราบดังกล่าว ผู้จะขายจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จตามกำหนดแจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุดต่อไป” แต่จำเลยกลับไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารห้องชุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จเพื่อจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่จะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ตามสัญญาพร้อมทั้งติดตั้งเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามที่ได้โฆษณาและได้ให้สัญญาไว้กับโจทก์ทั้งที่กำหนดเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์ของอาคารชุด การติดตั้งติดตั้งเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ล่วงเลยเกินกำหนดเวลาตามสัญญาโดยจำเลยมิได้แจ้งขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาข้อ ๑๐.๓ ให้แก่โจทก์ทราบแต่อย่างใด ต่อมาโจทก์ได้พยายามติดตามทวงถามจำเลยแล้วแต่จำเลยก็ยังคงก่อสร้างอาคารชุดล่าช้าเกินกำหนดเวลาตามสัญญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้บริโภค ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์หลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย ต่อมาโจทก์จึงได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์แล้วปรากฏตามสำเนาหนังสือทวงถามของโจทก์และสำเนาใบตอบรับทางไปรษณีย์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๕ และ ๖ ตามลำดับแต่จำเลยเพิกเฉยเรื่อยมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้บริโภค ดังนั้นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยได้รับชำระเงินครั้งสุดท้ายจากโจทก์คือวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นทั้งนี้คำนวณถึงวันฟ้องคิดดอกเบี้ยเป็นเงิน ๘๖,๐๗๒.๑๙ บาทรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ถึงวันฟ้องจำนวน ๒๘๒,๐๗๒.๑๙ บาท
อนึ่ง เนื่องจากการที่จำเลยกระทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้บริโภคเกิดจากการที่จำเลยผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยมีเจตนาเอกเปรียบโจทก์ผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ทั้งจงใจให้โจทก์ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภค การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะจำเลยผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นด้วย
โจทก์ไม่มีทางใดที่จะบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ได้จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนี้และมูลคดีเกิดที่สำนักงานของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตศาลนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายฟ้องคดีผู้บริโภค
ขอศาลโปรดออกหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษาและบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้
๑. ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๘๒,๐๗๒.๑๙ บาทคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงินจำนวน ๑๔๖,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นแกโจทก์
๒. ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นสองเท่าของค่าเสียหายดังกล่าวในข้อ ๑. ข้างต้นด้วย
๓.ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
๔. ให้จำเลยกระทำหรืองดเว้นการกระทำ –
๕.ให้จำเลยส่งมอบสิ่งของ –
๖.อื่นๆ –
ข้าพเจ้าได้ยื่นมาพร้อมสำเนาโดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วย หนึ่ง ฉบับและรอฟังคำสั่งอยู่ หากไมรอถือว่าทราบแล้ว
ลงชื่อ.....โจทก์
ข้าพเจ้า .....เจ้าพนักงานคดี/ผู้บันทึก
ข้าพเจ้า .....ผู้เรียง/พิมพ์