ข้อเท็จจริงในคดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์ ๗,๘๐๐ บาท ค่าติดตามรถคืน ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าขาดราคา ๒๗๙,๕๖๙.๐๘ บาท รวมเป็นเงิน ๒๙๗,๓๖๙.๐๘ บาท (สองแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันสามร้อยหกสิบเก้าบาทแปดสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีทุกประเด็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีเนื้อความดังนี้
ข้อ ๑. จำเลยที่ ๒ ยอมรับว่า เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อตามสัญญาท้ายฟ้อง เอกสารหมายเลข ๕ จริง แต่จำเลยที่ ๒ ขอให้การตัดฟ้องโจทก์โดยข้อกฎหมายว่า สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข ๔ และ ๕ นั้นเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ เพราะว่าโจทก์ในฐานะเจ้าของมีกรรมการลงลายมือชื่อในสัญญาเพียงคนเดียว ไม่เป็นไปตามหนังสือรับรองการจดทะเบียน เอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข ๑ ซึ่งกำหนดว่าจำนวนกรรมการที่ลงชื่อผูกพันบริษัทได้นั้นต้องลงลายมือชื่อร่วมกันสองคน จึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นไม่ได้ทำเป็นหนังสือ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ
ข้อ ๒. จำเลยที่ ๒ ขอให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ กล่าวคือเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๖ โจทก์ได้ส่งหนังสือถึงจำเลยที่ ๒ เรื่องการนำส่งข้อมูลซึ่งในข้อ ๑๐ ได้ระบุสถานะของบัญชีว่า “ อยู่ในระหว่างการเจรจาให้ชำระหนี้ ” รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือของโจทก์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๑
ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ทำหนังสือถึงโจทก์ เพื่อให้โจทก์ดำเนินการตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ ข้อ ๒ (ฎ) และ ข้อ ๕ (จ) โดยให้โจทก์กลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยจำเลยที่ ๒ แจ้งว่าจำเลยที่ ๒ สงวนสิทธิที่จะโต้แย้งเรื่องค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ยังแจ้งโจทก์อีกว่าหากโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ตามสัญญาข้อ ๕ แล้ว ต่อมาเมื่อมีการนำรถยนต์ดังกล่าวออกขายตามสภาพที่เป็นอยู่โดยวิธีการประมูล ขอให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย เพื่อจำเลยที่ ๒ จะได้ปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้องครบถ้วน โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาหนังสือของจำเลยที่ ๒ ฉบับลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๖ , ใบรับฝากบริการไปรษณีย์ , ใบเสร็จรับเงินค่าฝากส่งและใบตอบรับทางไปรษณีย์ เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๒ – ๔ ตามลำดับ
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์โดยชำระครั้งสุดท้ายเป็นงวดประจำวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๘๗,๒๖๒.๙๒ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด เพราะตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๕ (ก) นั้น สัญญากำหนดว่า “ ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดใดๆ เจ้าของมีสิทธิ์กลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อได้ ” แต่จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อเพิ่งผิดนัดชำระค่างวดเพียงงวดเดียวเท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงยังไม่ผิดสัญญา สัญญายังไม่เลิกกันแต่โจทก์กลับติดตามยึดรถยนต์กลับคืนบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ ๓ นั้น โจทก์กลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเรื่องค่าเสียหายแก่โจทก์
ข้อ ๓. จำเลยที่ ๒ ขอให้การว่าจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ เพราะว่าจำเลยที่ ๑ ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ เนื่องจากว่าแม้จำเลยที่ ๑ ชำระค่างวดเพียง ๑๘ งวด ซึ่งเมื่อถึงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ ๓ นั้น ระยะเวลาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาก็ตรงกับกำหนดเวลาคือ เดือนที่ ๑๘ พอดี สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน จำเลยที่ ๑ ยังไม่ผิดสัญญา จำเลยที่ ๒ จึงยังไม่ผิดสัญญาด้วย ซึ่งแม้ว่าในงวดเดือนที่ ๑๘ จำเลยที่ ๑ ชำระค่างวดเพียง ๔,๗๐๐.๙๒ บาทซึ่งไม่ตรงกับจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่โจทก์กลับรับเงินค่าเช่าซื้อไว้โดยไม่อิดเอื้อนทักท้วง แสดงว่าในทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ ๑ มิได้ถือเอากำหนดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเยที่ ๑ ยังไม่ผิดสัญญา จำเลยที่ ๒ จึงยังไม่ผิดสัญญาด้วยเช่นกัน สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน จำเลยที่ ๒ จึงยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์
ข้อ ๔. จำเลยที่ ๒ ขอให้การต่อสู้เรื่องค่าเสียหายว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๕ (ก) ข้อสัญญากำหนดว่า “ ถ้าหากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดใดๆ เจ้าของมีสิทธิ์กลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อได้ ” แต่จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อเพิ่งผิดนัดชำระค่างวดเพียงงวดเดียวเท่านั้น โจทก์กลับติดตามยึดรถยนต์กลับคืนบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ดังคำฟ้องโจทก์ข้อ ๓ โจทก์จึงเป็นฝ่ายทำผิดสัญญาเสียเอง จำเลยที่ ๒ ไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงยังไม่ต้องรับผิดเรื่องค่าเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใดๆทั้งสิ้น
๔.๑ โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ คงค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงิน ๗๙๙,๕๖๙.๐๘ บาทนั้น ค่าเช่าซื้อดังกล่าวได้รวมเอาดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าตามระยะเวลาค่างวดเช่าซื้อ มิได้มีแต่ราคารถเพียงอย่างเดียว โจทก์จึงเอาค่าเช่าซื้อค้างชำระมาเป็นเกณฑ์เรียกราคารถส่วนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้
๔.๒ เรื่องค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ ๓ นั้น โจทก์ติดตามนำรถยนต์กลับคืนบริษัทโจทก์ได้เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ แต่จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โจทก์จึงไม่ขาดประโยชน์แต่อย่างใดๆ โจทก์ไม่เสียหาย
๔.๓ เรื่องการจ้างบุคคลภายนอกติดตามรถยนต์กลับคืน จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด เพราะเหตุว่าจำเลยที่ ๑ จอดรถยนต์ไว้ตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๒ (ฎ) ที่ว่า “ ผู้เช่าซื้อจะเก็บรักษารถยนต์ไว้ ณ ที่อยู่ของผู้เช่าซื้อดังแจ้งไว้ในสัญญาเช่าซื้อนี้ ” และในสัญญาข้อ ๒ (ง) มีข้อความว่า “ อนุญาตให้ผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบของเจ้าของเข้าตรวจดูสภาพของรถยนต์ได้ตลอดเวลา ” ทั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นั้นผู้แทนโจทก์อ้างว่าได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อตรวจดูสภาพรถยนต์ ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญา แต่ผู้แทนโจทก์กลับยึดรถยนต์กลับคืนบริษัทโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีค่าเสียหายแต่อย่างใดๆในส่วนนี้
๔.๔ ในวันที่โจทก์ยึดรถยนต์กลับคืน รถยนต์ไม่มีความเสียหายแต่อย่างใดๆ แต่เอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข ๖ โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นเองโดยปราศจากความรู้เห็นหรือยินยอมของจำเลยที่ ๒ ทั้งเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวอ่านไม่ออก เห็นไม่ชัดเจน ฟ้องโจทก์เรื่องค่าเสียหายดังกล่าวเป็นฟ้องที่โจทก์เอาเปรียบจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
๔.๕ ก่อนที่โจทก์จะยึดรถยนต์คืนบริษัทโจทก์ตามคำให้การจำเลยข้อ ๒ , ข้อ ๔.๓ นั้น โจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวข้างต้น สัญญาจึงยังไม่เลิกกัน จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์
๔.๖ โจทก์อ้างว่าการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์คันพิพาทได้ราคาเพียง ๕๒๐,๐๐๐ บาทนั้นจำเลยที่ ๒ เห็นว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินความจริง เพราะรถยนต์ยังเป็นรถยนต์ใหม่ ใช้เพียงเจ้าของคนเดียว ราคารถยนต์ควรจะขายได้ถึง ๖๐๐,๐๐๐ บาท อีกทั้งในสัญญาข้อ ๙ ยังระบุว่า “ วิธีการขายโดยการประมูลนั้น เจ้าของจะบอกไปยังผู้เช่าซื้ออย่างน้อย ๗ วันล่วงหน้าถึงการขายดังกล่าว ” แต่ความจริงคือ โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญานั้น โจทก์ไม่เคยแจ้งเรื่องการขายทอดตลาดรถยนต์โดยวิธีประมูลให้จำเลยที่ ๒ ทราบแต่อย่างใดๆทั้งที่กำหนดไว้ในสัญญาอย่างแจ้งชัด อีกทั้งจำเลยที่ ๒ ได้เคยแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือแล้ว ตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยที่ ๒ หมายเลข ๒ การที่โจทก์ประมูลขายทอดตลาดรถยนต์โดยโจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบล่วงหน้าเพื่อจำเลยที่ ๒ จะมีโอกาสเข้าประมูลสู้ราคา โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในเงินส่วนที่โจทก์อ้างว่าขาดอยู่นั้นด้วยตัวโจทก์เอง จำเลยที่ ๒ ไม่มีภาระหนี้สินที่จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใดๆ
อาศัยเหตุผลทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ขอศาลได้โปรดพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยที่ ๒ ด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ จำเลยที่ ๒
คำให้การจำเลยที่ ๒ ฉบับนี้ ข้าพเจ้า นาย..... จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
คดีนี้มีประเด็นที่โต้เถียงกันดังนี้คือ (๑)สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด (๒) จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ในที่สุดศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า “ สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ค่าติดตามรถและค่าขาดประโยชน์ ถือว่าไม่มีการติดตามรถคืนจึงไม่กำหนดให้ ส่วนค่าขาดประโยชน์ ไม่มีค่าขาดประโยชน์ที่จะกำหนดให้ ส่วนค่าขาดราคาไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบเรื่องการนำรถคันเช่าซื้อออกประมูลขายทอดตลาด เพื่อให้สิทธิจำเลยทั้งสองเข้าประมูลสู้ราคา ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนนี้ จึงไม่กำหนดให้ พิพากษายกฟ้อง “ ปรากฏตาม คำพิพากษาศาลคดีผู้บริโภค (กรณีเช่าซื้อรถยนต์)
หากท่านถูกศรีสวัสดิ์เงินติดล้อฟ้องคดี เรามีวิธีแก้ไข เนื่องจากลูกค้าเคยถูกฟ้องเหมือนกันและแก้ถูกทางแล้ว
โปรดดู ตัวอย่างคำฟ้องคดีเช่าซื้อเงินติดล้อ