ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่อง ธนาคารพาณิชย์ ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน ๕,๕๙๐,๓๖๗.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๔๖๙,๙๕๘.๖๒ บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่..... ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากนำโพ) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และที่ดินโฉนดเลขที่.... ตำบลหนองกระโดน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีทุกประเด็น โดยกรอกข้อความในแบบฟอร์มของศาล (๑๑ ก) คำให้การจำเลย ดังมีข้อความต่อไปนี้
ข้อ ๑.จำเลยทั้งสองยอมรับว่า เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๙ และเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจำนองจริง แต่จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน , สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองให้โจทก์เสร็จสิ้นหมดแล้ว โดยจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๘,๙๖๘,๔๔๑.๓๕ บาท (แปดล้านเก้าแสนหกหมื่นแปดพันสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดบาทสามสิบห้าสตางค์)
ข้อ ๒. จำเลยทั้งสองขอให้การปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญาตกลงยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารเรียกเก็บได้ ทั้งไม่เคยทำสัญญายินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือนไปดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ข้อ ๓. จำเลยทั้งสองขอให้การว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เนื่องจากโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๑๔(๒) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๑ โดยประกาศดังกล่าวข้อ ๓ (๑) และ (๒) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและในประกาศดังกล่าว ข้อ ๓ (๔) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข
ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๙ , สัญญากู้เงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งที่ ๑ ฉบับลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ ๑๘.๕๐ , ๑๙.๕๐ และ ๑๕.๕๐ ต่อปีตามลำดับ อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ทั้งที่ตามสัญญาข้อ ๓ ของสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๙ ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องชำระเงินและดอกเบี้ยโดยผ่อนชำระงวดแรกถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป ข้อสัญญานี้จึงเป็นสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยจะเรียกดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๑ ข้อ ๓ (๔) ดังกล่าวข้างต้น ข้อสัญญาในเรื่อดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๑๔(๒) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๔๔ ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยนี้ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑
ข้อ ๔. โจทก์ไม่เคยมีประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือส่วนลดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดแต่อย่างใด เมื่อข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์โมฆะดังคำให้การจำเลยทั้งสองในข้อ ๓. แล้ว การคิดดอกเบี้ยในเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข ๑๓ , ๑๔ , ๑๙ และ ๒๑ จึงไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ความจริงคือจำเลยทั้งสอชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว
ข้อ ๕. จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ให้ชำระหนี้เงินกู้ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองจากโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒๒ แต่อย่างใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ทั้งต้นงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว
ข้อ ๖. จำเลยทั้งสองขอให้การต่อสู้คดีว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้ง ๕ ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒ , ฉบับลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๓ , ฉบับลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๔ , ฉบับลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และฉบับลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ นั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้บริโภคได้เข้าทำสัญญากับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้า โดยทำสัญญาดังกล่าวข้างต้นเป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งข้อตกลงในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งห้าฉบับดังกล่าวทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยทั้งสองเกินสมควรและเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีข้อตกลงที่มีลักษณะให้จำเลยทั้งสองรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ คือข้อตกลงที่กำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ยทบต้น ทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับภาระเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔ (๙)
อาศัยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองได้กราบเรียนมา จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสองด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ จำเลยที่ ๑
ลงชื่อ จำเลยที่ ๒
คำให้การจำเลยทั้งสองฉบับนี้ ข้าพเจ้า นาย... จำเลยที่ ๑ และ ข้าพเจ้า นาย......จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เรียง
ลงชื่อ ผู้เรียง
คำให้การจำเลยทั้งสองฉบับนี้ ข้าพเจ้า นาย... จำเลยที่ ๑ เป็นผู้พิมพ์
ลงช่อ ผู้พิมพ์