โปรดดู ตัวอย่างชนะคดีสัญญาสินเชื่อเงินสดอีซี่บาย
ข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยในต่างจังหวัดจะถูกบริษัทที่ซื้อหนี้หรือรับดำเนินคดีให้เจ้าหนี้ ฟ้องเรื่องหนี้สินเชื่อเงิดสดด้วยจำนวนหนี้ที่สูงเกินจริง จำเลยให้การต่อสู้แก้ฟ้องในหลายประเด็น โดยใช้แบบฟอร์มของศาลในคดีผู้บริโภค (แบบ ผบ.๓) คำให้การจำเลย ซึ่งมีเนื้อความแก้ฟ้องดังนี้
ข้อ ๑. จำเลยยอมรับว่าเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๗ จำเลยได้กู้เงินไปจากบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน)จำนวน ๓๘,๐๐๐ บาทซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นระยะเวลา ๑๗ เดือน ๓๐ วันที่จำเลยผิดนัดตามฟ้องโจทก์ คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจะคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน ๔,๒๗๕ บาทรวมเป็นหนี้เพียง ๔๒,๒๗๕ บาท จำเลยชำระหนี้ให้บริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) แล้วทั้งสิ้น ๒๘,๖๔๐ บาทโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐ ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลย จำเลยจึงเป็นหนี้บริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง ๑๓,๖๓๕ บาทเท่านั้น
ข้อ ๒. จำเลยขอให้การปฏิเสธว่า จำเลยไม่เคยตกลงยินยอมที่จะชำระค่าธรรมเนียมการกู้เงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท(หักออกในวันรับเงิน) ค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๐.๙๓ ต่อเดือน ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๓.๖๐ ต่อเดือนรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆแต่อย่างใด
ข้อ ๓. จำลยขอให้การตัดฟ้องโจทก์ด้วยข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กันแต่อย่างใดๆ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ นั้นบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือไปยังจำเลยลูกหนี้ก่อนตามข้อความในสัญญาข้อ ๑ ที่ว่า ”....ทั้งนี้ผู้รับโอนจะมีสิทธิและหน้าที่ติดตามทวงถามตามสัญญากู้ยืมดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่ผู้โอนได้มีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้เรียบร้อยแล้ว....” เมื่อบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้โอนสิทธิเรียกร้องไม่เคยแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยตามข้อสัญญาระหว่างโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับบริษัทอีซี่บายจำกัด (มหาชน) แต่อย่างใดๆ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิและหน้าที่ติดตามทวงถามตามสัญญากู้ยืมดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามข้อสัญญาข้างต้นนั้น ทั้งโจทก์ไม่เคยแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือไปยังจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๕ แต่อย่างใดๆ ลายมือชื่อในใบตอบรับทางไปรษณีย์ตามเอกสารท้ายฟ้อหมายเลข ๕ ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อ ๔. จำเลยขอให้การตัดฟ้องโจทก์ด้วยข้อกฎหมายว่าบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ให้จำเลยกู้เงินและคิดค่าธรรมเนียมการกู้เงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท (หักออกในวันรับเงิน) ค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๐.๙๓ ต่อเดือน ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๓.๖๐ ต่อเดือนรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกตามคำฟ้องโจทก์ข้อ ๒ นั้นถือเป็นการบังอาจกำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งกำไรอื่นอันเป็นเงินจนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่รับมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงินอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๓ ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาข้อสัญญาในการคิดค่าธรรมเนียมการกู้เงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท (หักออกในวันรับเงิน) ค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๐.๙๓ ต่อเดือน (คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๑๖ ต่อปี) ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๓.๖๐ ต่อเดือน (คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๒๖ ต่อปี) รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือเงินที่เรียกอย่างอื่นดังกล่าวที่โจทก์อ้างดังฟ้องข้อ ๒ นั้นเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นเงินที่เรียกว่าดอกเบี้ยและเงินอย่างอื่นรวมกันในอัตราร้อยละ ๕๔.๓๖ ต่อปีเป็นอย่างต่ำซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวยังไม่รวมเงินจำนวน ๒,๐๐๐บาท (ร้อยละ ๕ ของเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งหักออกในวันรับเงิน) อีกต่างหากซึ่งถือว่าเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ข้อตกลงส่วนดอกเบี้ยและเงินที่เรียกอย่างอื่นจึงเป็นโมฆะ เมื่อจำเลยได้รับเงินจากบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) จำนวน ๓๘,๐๐๐ บาทและจำเลยใช้เงินคืนให้บริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) แล้วทั้งสิ้น ๒๙,๖๔๐บาท โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐ ตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยนั้น จำเลยจึงคงยังเป็นหนี้บริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง ๑๓,๖๓๖ บาทเท่านั้น
ข้อ ๕. จำเลยขอให้การต่อสู้ว่าสัญญาสินเชื่อเงินสด(กู้เงิน) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖ นั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือจำเลยในฐานะผู้บริโภคได้เข้าทำสัญญากับบริษัทอีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยสัญญาดังกล่าวข้างต้นเป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งข้อตกลงในสัญญาฉบับดังกล่าวข้างต้นทำให้บริษัทอีซี่บาย จำกัด(มหาชน)ได้เปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากมีข้อตกลงที่มีลักษณะให้จำเลยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติคือข้อตกลงที่กำหนดการคิดค่าธรรมเนียมการกู้เงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท (หักออกในวันรับเงิน) ค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๐.๙๓ ต่อเดือน (คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๑๖ ต่อปี) ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๓.๖๐ ต่อเดือน (คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๒๖ ต่อปี) รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือเงินที่เรียกอย่างอื่นดังกล่าวที่โจทก์อ้างดังฟ้องข้อ ๒ นั้นเมื่อรวมแล้วจะเป็นเงินที่เรียกว่าดอกเบี้ยและเงินอย่างอื่นรวมกันในอัตราร้อยละ ๕๙.๓๖ ต่อปีเป็นอย่างต่ำทำให้จำเลยต้องรับภาระเกินสมควรตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔
ข้อ ๖. อย่างไรก็ดีโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอนสิทธิ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินเกินไปกว่าจำนวนตามคำให้การต่อสู้คดี ข้อ ๑. ของจำเลยนั้น
อาศัยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยได้กราบเรียนมา จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ จำเลย
คำให้การจำเลยฉบับนี้ ข้าพเจ้านางสาว ส . จำเลยเป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
ท่านสามารถนำคำให้การนี้ไปปรับใช้ตามข้อเท็จจริงในคดีของท่านได้ รับรองว่าท่านจะได้ลดหนี้เป็นเงินจำนวนเป็นหมื่นบาทแน่นอน