ข้อเท็จจริงเรื่องนี้คือ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำให้การจำเลยเพื่อต่อสู้คดีไว้แล้ว และโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้ตรงกับข้อเท็จจริงตามความจริง ศาลไม่ได้มีคำสั่งว่ารับหรือไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๒ แต่พอถึงวันนัดพิจารณา ศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ แพ้คดีตามจำนวนเงินที่เกินกว่าที่โจทก์ขอแก้ฟ้องไว้ จำเลยที่ ๒ จึงยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาที่ผิดระเบียบต่อศาล โดยทำเป็นคำร้องกรอกข้อความตามแบบพิมพ์ หมายเลข (๗) คำร้อง โดยมีเนื้อความดังนี้
ข้อ ๑. คดีนี้ศาลได้พิจารณาและพิพากษาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ ต่อมาศาลได้ออกคำบังคับและเจ้าพนักงานของศาลนำคำบังคับไปปิดไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๖กันยายน ๒๕๕๓ ดังความแจ้งแล้วนั้น
จำเลยที่ ๒ เห็นว่าการพิจารณาและพิพากษาของศาลในวันดังกล่าวได้กระทำไปโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน,การพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐานดังจะกล่าวต่อไปนี้
(ก) เมื่อวันที ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๒ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในคำให้การจำเลยที่ ๒ ข้อ ๗. ความว่า.”ในฟ้องโจทก์ข้อ ๓ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ค้ำประกันเงินกู้จำนวน ๕๐,๐๐๐บาท แต่โจทก์กลับมีคำขอท้ายฟ้องข้อที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน ๒๑๔,๗๒๙.๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อปีและเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขัดแย้งกันไม่สอดคล้องกันโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลบังคับแก่จำเลยที่ ๒เ กินกว่าหนี้ที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิด” นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีดังกล่าวจนถึงวันยื่นคำร้องฉบับนี้ ศาลยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำให้การดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใดๆ ศาลไม่ได้จดแจ้งแสดงการรับหรือไม่รับหรือให้คืนคำให้การจำเลยที่ ๒ ไว้บนคำให้การจำเลยที่ ๒ นั้นเองหรือในที่อื่นแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒เห็นว่าการละเลยไม่ได้จดแจ้งแสดงการรับหรือไม่รับหรือคืนคำให้การของจำเลยที่ ๒ไ ว้บนคำให้การจำเลยที่ ๒ นั้นเองหรือในที่อื่นแต่อย่างใดของศาลเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบในเรื่องการเขียนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘ ประกอบมาตรา ๒๗
(ข) เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ ทนายความโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องจากเดิมขอแก้เป็นดังนี้ “ ข้อ ๒.ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน ๕๔,๗๗๗.๙๙ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อปีและเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนของเงินต้นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น” ศาลมีคำสั่งอนุญาตแต่ต่อมาในวันดังกล่าวศาลกลับมีคำพิพากษาว่า “ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๑๔,๗๒๙.๗๒ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑ ต่อปีและเบี้ยปรับอัตราร้อยละ ๒ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ บาทนับถัดจากวันฟ้อง ( ฟ้องวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท” การพิพากษาของศาลเช่นนั้นเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบในเรื่องการพิจารณาพยานหลักฐานเนื่องจากเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม๒๕๕๓ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในข้อที่ ๗. มีความว่า “ ในฟ้องโจทก์ข้อที่ ๓ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ค้ำประกันเงินกู้จำนวน ๕๐,๐๐๐บาท“ ตามคำร้องนี้ ข้อ (ก) ทั้งเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ ทนายความโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องจากเดิมขอแก้ไขเป็นดังนี้ “ ข้อ ๒ ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ ๑ ชำระ หนี้แก่โจทก์จำนวน ๕๔,๗๗๗.๙๙ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อปีและเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนของเงินต้นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น” และศาลได้มีคำสั่งอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เป็นข้อเท็จที่ไม่อาจโต้แย้งได้โดยปรากฏชัดแจ้งในสำนวนคดีนี้อยู่แล้วแต่ศาลกลับมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๑๔,๗๒๙.๗๒ บาท ซึ่งถือได้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เพราะว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน ๕๔,๗๗๗.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อปีและเบี้ยปรับในอัตรา ๑.๕ ต่อเดือนของเงินต้นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น แต่ศาลกลับพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบในเรื่องข้อความและผลแห่งคำพิพากษาและคำสั่งตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ประกอบมาตรา ๒๗ การพิจารณาที่ผิดระเบียบทั้งในเรื่องการเขียน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ ประกอบมาตรา ๒๗ ตามข้อ (ก) และในเรื่องข้อความและผลแห่งคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ประกอบมาตรา ๒๗ ตามข้อ (ข) นั้น เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ได้รับความเสียหายต้องถูกบังคับคดีเกินกว่าที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันไว้ เป็นจำนวนเงิน สูงถึง ๑๕๙,๙๕๑.๗๓ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยห้าสิบเอ็ดบาทเจ็ดสิบสามสตางค์)
ข้อ ๒. การยื่นคำร้องนี้ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือไม่ช้ากว่า ๘ วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๒ ได้มาตรวจดูคำพิพากษาของศาลนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
อาศัยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังได้คัดค้านการพิจารณาที่ผิดระเบียบมาแล้วข้างต้น จึงขอศาลได้โปรดเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามที่จะโปรดเห็นสมควรต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ จำเลยที่ ๒
คำร้องฉบับ ข้าพเจ้านาย ป. จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์