ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันเริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นของศาล ไปค้นสถานที่เกิดเหตุผู้ต้องหาถูกจับกุมตามบันทึกการตรวจยึด/จับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนเวรได้ทำบัญชีของกลางคดีอาญาและรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบออกหมายเรียกผู้ต้องหาอื่นมารับทราบข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการแต่สั่งฟ้องผู้ต้องหาคนอื่น จนกระทั่งถูกฟ้องตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ จำเลยให้การปฏิเสธโดยใช้พยานหลักฐานที่มีอยู่และแสวงหามาได้เข้าสืบพยานต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ คดีนี้จำเลยนำสืบโดยขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารจากบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดทั้งรวบรวมเอกสารการเสียภาษีที่กรมศุลกากร และนำพยานบุคคลที่เป็นพยานคนกลางจากบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดกับข้าราชการกรมศุลกากรมาเป็นพยานจำเลย และได้ถามค้านเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ให้เช่าสถานที่ที่อาคารไทม์สแควร์ พยานของโจทก์ไว้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้เรียงคำพิพากษาคดีนี้รวมจำนวนทั้งสิ้น ๒๐ หน้า เราเพียงนำบางส่วนของคำพิพากษาที่ศาลได้ให้เหตุผลไว้ในคำวินิจฉัย ให้ท่านได้พิจารณาศึกษาเพื่อเป็นแนวทางและวิธีคิดในการสู้คดีพอสังเขปเท่านั้น ดังนี้
คำพิพากษา
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ,พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๔ , ๖, ๒๐ วรรคแรก , ๓๒ , ๓๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๘๓ , ๙๑ ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า.....
จำเลยนำสืบว่า.....
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว.....
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องข้อ ๑.๑ หรือไม่.....พยานปากนาย น เป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเบิกความเจือสมกับพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมา จึงทำให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัท.....ซึ่งรวมถึงการดำเนินกิจการให้จำหน่ายแผ่นวีซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ต่างประเทศภาษา.....จำนวน ๕๙๙ แผ่น ตามฟ้องข้อ ๑.๑ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องข้อ ๑.๑
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า มีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องข้อ ๑.๒ จริงหรือไม่.....โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาประกอบกิจการให้เช่าและจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา ๖ , ๓๒ ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา ๓๔ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษและตามความผิดที่พิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดร่วมกับบริษัท.....ตามฟ้องข้อ ๑.๒ ต่อไปอีก
คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นสุดท้ายว่ามีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องข้อ ๑.๓ จริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกับบริษัท.....และนาย จ กระทำความผิดข้อหานำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาให้บริการในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๒๐ วรรคแรก , ๓๒ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา ๓๔ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าบริษัท.....มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการให้เช่าและจำหน่ายซึ่งเทปและวัสดุโทรทัศน์ ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖ ที่นำเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาไปให้บริการในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา ๓๕(๑) อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษและตามความผิดที่พิจารณาได้ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดร่วมกระทำผิดกับบริษัท.....ตามฟ้องข้อ ๑.๓ อีกต่อไป
พิพากษายกฟ้อง ของกลางแผ่นวีซีดีรวมถึงแผ่นดีวีดี ภาพยนตร์ต่างประเทศภาษา.....จำนวน ๕๙๙ แผ่นให้ริบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ของกลางอื่นนอกจากนี้ให้คืนแก่เจ้าของ
นายศุภวิทย์ ตั้งตรงจิตต์
นางสาวภัทรี เพ็ชรทองช่วย ประทับตราศาลอาญากรุงเทพใต้
อัมพร พิมพ์